Image
วัดขุนสมุทราวาส หรือวัดขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ในอดีตเคยมีเนื้อที่มากกว่า ๗๖ ไร่ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๕ ไร่เศษ ผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทำให้แผ่นดินโดยรอบวัดมลายหายไปกับน้ำ  ในแต่ละปีชาวบ้านต้องช่วยกันจัดทอดกฐินหาเงินมาบูรณะซ่อมแซมวัด เสริมสร้างกำแพงเขื่อนหินทิ้งเพื่อให้วัดยังยืนหยัดอยู่ได้ 
ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

SINKING BANGKOK
กรุงเทพฯ จมน้ำ
อยู่ต่อหรือย้ายเมือง (หลวง) ?
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
Image
ตลาดปากน้ำ สมุทรปราการ
ความสูงประมาณ ๑ เมตรจากระดับน้ำทะเล

“มันขึ้นกับดวงจันทร์ น้ำขึ้นน้ำลงอยู่กับดวงจันทร์” ชายหนุ่มคนนั้นเอ่ยขึ้นทันที เมื่อรู้ว่าผมมาเก็บข้อมูลน้ำท่วมตลาดปากน้ำ

“พูดไปเรื่อย”

หญิงสาวข้าง ๆ ร้องสวนคัดค้าน ดูจากเสื้อผ้าแล้ว พวกเขาคงไม่ใช่คนปากน้ำแต่อย่างใด

“อ้าว ! จริง ๆ”
“สาระเกินไปไม่น่าเชื่อถือ”
“ความรู้มันอยู่บนท้องฟ้า”
“เดี๋ยว ตรงนี้มีน้ำท่วมด้วยเหรอ”
ใครอีกหลายคนในวงริมแม่น้ำเจ้าพระยาพากันทักขึ้น

“อยากจะให้ท่วมหรือไม่ท่วม จมหรือไม่จม ไปตกลงกับดวงจันทร์เสียให้เรียบร้อย”

ผมได้ยินเสียงหัวเราะไล่ตามหลัง อดยิ้มไม่ได้กับอารมณ์ขันที่พบเข้าอย่างไม่ตั้งใจ
. . .
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ประกาศเตือนระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดเดือนมีนาคม แอดมินเพจ “เรารักพระสมุทรเจดีย์” เอาตัวเลขมาโพสต์ให้ลูกเพจเตรียมตัวรับมือน้ำ คำพยากรณ์บอกว่าเดือนนี้จะเกิดปรากฏการณ์ “น้ำทะเลหนุน” สองรอบ คือ วันที่ ๖-๘ และ ๑๙-๒๓ ช่วงที่ต้องเฝ้าระวังที่สุดคือวันที่ ๒๐-๒๑ ตั้งแต่ตี ๕ ถึง ๗ โมงเช้า ระดับน้ำจะสูงกว่าน้ำทะเลปานกลาง ๓.๙ เมตร

แต่สุดท้ายไม่มีเหตุน้ำท่วมตลาดปากน้ำ แอดมินเพจอธิบายว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง ลม ฝน ฟ้า อากาศ ล้วนมีผลต่อระดับน้ำทะเล
. . .
“ตอนน้ำขึ้นสุดมาถึงนี่เลยนะ” เจ้าของร้านปลากรอบ ปลาแผ่น ปลาหมึกแห้งในตลาดชี้บอกระดับน้ำ มันสูงเกือบถึงแผงวางขายอาหาร แม่ค้าเล่าว่าเป็นเรื่องปรกติที่ตลาดปากน้ำจะเกิดน้ำท่วมยามน้ำทะเลหนุน

“บางวันน้ำแรกยังไม่สูงเท่าไร วันที่ ๒ วันที่ ๓ นี่สูง วันที่ ๔ วันที่ ๕ ถึงจะเบาลง แต่บางครั้งก็สูงตั้งแต่ต้น ยิ่งช่วงปลายปีท่วมหนักมาก” เธอบอกว่าแม่ค้าทุกคนต้องยอมรับสภาพ แต่สิ่งที่ยังทำใจไม่ได้คือพวกสัตว์มีพิษ

“จะมีพวกงูกับหนอนทะเลว่ายมากับน้ำ ต้องใส่รองเท้าบูตกันไว้ แล้วอีกอย่างตอนน้ำขึ้นใหม่ ๆ นี่เหม็นสุด ๆ ดำปี๋อย่างกับน้ำล้างท่อ”
. . .
ลึกเข้าไปในแผ่นดินสองฟากฝั่งเจ้าพระยา เหตุการณ์น้ำทะเลหนุนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตลาดปากน้ำ แต่แผ่อิทธิพลถึงตัวเมืองสมุทรปราการ ย่านสำโรง กรุงเทพ-มหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ที่อยู่ลึกเข้าไป  ถ้าวันไหนฝนตกพร้อม ๆ กับน้ำทะเลหนุน ก็ไม่ต่างจากสงครามระหว่างคนกับน้ำ

มีหลายคนบอกว่ากรุงเทพฯ กำลังจมน้ำ จากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) แต่หลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้อธิบายได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อหรือคาดเดาอย่างเลื่อนลอย
ก่อนหน้าปี ๒๔๙๕ วัดขุนสมุทราวาสเคยตั้งอยู่ท้ายหมู่บ้านห่างจากชายฝั่งร่วม ๒ กิโลเมตร ในปี ๒๕๓๔ (ภาพบน) ทะเลรุกเข้ามาประชิดถึงหน้าวัด 
ปัจจุบันวัดกลายเป็นเกาะห่างจากชายฝั่งประมาณ ๑ กิโลเมตร มีเพียงทางเดินปูนและป่าชายเลนเชื่อมแผ่นดินกับวัด

(ภาพถัดมา) พื้นโบสถ์วัดจมอยู่ใต้น้ำมานานหลายปี ต้องยกพื้นไม้ภายในโบสถ์รวมถึงทางเดินทั้งหมดให้สูงขึ้นเพื่อหนีน้ำ ขณะที่บ้านเรือน โรงเรียน ชุมชนรอบ ๆ จมน้ำหมดสิ้น ผู้คนพากันอพยพโยกย้ายออกหมดแล้ว 
ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

Image
มหานครแห่งความอ่อนไหว
ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาชี้ว่า เมื่อ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ ปีก่อน น้ำทะเลเคยขึ้นไปถึงจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนที่จะค่อย ๆ ถอยร่นลงมาตำแหน่งปัจจุบัน  ระดับน้ำทะเลเวลานั้นคาดว่าสูงกว่าปัจจุบันประมาณ ๔ เมตร

อ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัย “เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลางประเทศไทย : การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์” โดย ผ่องศรี วนาสิน
และ ทิวา ศุภจรรยา และโครงการวิจัย “ภูมิสัณฐานชายฝั่งทะเลโบราณ เมืองท่า เส้นทางการค้า และความเชื่อมโยงกับการตั้งถิ่นฐานแรกเริ่มในประเทศไทยในบริบทของภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต ขาวเขียว  ที่ตั้งของเมืองจันเสน (นครสวรรค์), อู่ทอง (สุพรรณบุรี), อินทร์บุรี (สิงห์บุรี), กำแพงแสน (นครปฐม),
ศรีมโหสถ (ปราจีนบุรี), คูบัว (ราชบุรี) เคยเป็นชายฝั่งทะเล ขอบเขตการรุกสูงสุดของน้ำทะเลแผ่ถึงตัวเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ห่างจากทะเลปัจจุบัน
Image
ภาพจินตนาการสร้างจาก AI สะท้อนหายนะของมหานครภายใต้ความเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อนในอนาคต
Image