Image
โลกรวน โลกร้อน
ประเทศไทย กบต้ม
s c o o p
เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ.
หมายเหตุ : บทความนี้เกี่ยวข้องกับตัวเลขจำนวนมาก
และเชื่อมโยงกับระดับสากล จึงขอนำเสนอด้วยเลขอารบิกและปี ค.ศ.
“ร้อนเกินเบอร์” 
“ร้อนโ- ตร” 
“ร้อนจนละลาย” 
ฯลฯ

อากาศร้อนจัดเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาทำให้วิกฤตโลกร้อนกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง 

ไม่นับการคาดหมายว่าปี ค.ศ. 2023 จะเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” รุนแรง และอุณหภูมิอาจปรับตัวสูงขึ้นจนทำสถิติอากาศร้อน ซึ่งแทบทุกปีในช่วงทศวรรษหลังทำลายสถิติกันมาตลอด

แต่ โลกร้อน โลกรวน ก็ยังเป็นเพียงคำในข่าวที่คนส่วนใหญ่ปัดหน้าจอผ่านตา จะมีใคร “ตื่นตระหนก” จริง ๆ กับหายนะซึ่งกำลังจะมาถึง อาจในไม่กี่ปีนี้ หรือ 10 ปี 50 ปีข้างหน้า

คิดถึง “ทฤษฎีกบต้ม” ที่เปรียบเปรยว่า กบนอนแช่ในหม้อซึ่งค่อย ๆ เพิ่มความร้อนทีละนิดไปเรื่อย ๆ กบจะนอนสบายใจโดยไม่รู้สึกตัวถึงความผิดปรกติ จนที่สุดน้ำเดือดกบก็ถูกต้มจนสุก จะกระโดดหนีเอาตัวรอดก็สายเสียแล้ว

ตายกันหมดในหม้อนั่นแหละ 

แต่โลกไม่ต้องรอถึงจุดน้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส เพราะแค่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส ก็เชื่อว่าจะเกิดหายนะครั้งใหญ่

เพียงแค่วันนี้โลกร้อนขึ้นเฉลี่ยราว 1 องศาเซลเซียส จากเมื่อศตวรรษก่อน ทั้งภัยแล้ง คลื่นความร้อน ซูเปอร์พายุหมุน น้ำท่วม ฯลฯ ก็เล่นงานจนก่อความสูญเสียไปทั่ว

แล้วใช่ว่ากบทุกตัวจะร้อนขึ้นเท่า ๆ กัน  

ดัชนีชี้ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) จัดทำโดยองค์กรเอกชนไม่แสวงกำไร Germanwatch วิเคราะห์ผลกระทบของภาวะโลกร้อนโลกรวนที่มีต่อประเทศต่าง ๆ รวม 180 ประเทศในช่วงปี ค.ศ. 2000 ถึง 2019 และนำมาจัดอันดับ ผลคือประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ติดใน 10 อันดับแรกของบรรดากบที่ได้รับผลกระทบสูงสุด มี เปอร์โตริโก เมียนมา เฮติ ฟิลิปปินส์ โมซัมบิก บาฮามาส บังกลาเทศ ปากีสถาน ไทย และเนปาล 

ไทยติดอันดับ 9  ผลกระทบที่เกิดขึ้น 146 ครั้ง ทำให้มีอัตราการตาย 0.21 รายต่อประชากร 1 แสนคน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 7,719 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมกัน

ดัชนีชี้วัดนี้พลิกความเชื่อว่าเราอยู่ในตำแหน่งปลอดภัยของหม้อต้ม ชัยภูมิเมืองไทยดี และไม่น่าได้รับผลกระทบมากจากโลกร้อน

ตอนนี้มนุษย์ทั้งโลก รวมทั้งคนไทย กำลังทำตัวเหมือนกบในหม้อต้ม แต่ร้ายกาจกว่าเสียอีก เพราะเป็นคนต้มน้ำร้อนนั้นด้วยตัวเอง

จะโดยสมัครใจ หรือถูกบังคับ เข้าใจผิด หรือทำเป็นไม่รู้  

กบในหม้อพากันชูป้ายและป่าวประกาศว่า จะช่วยกันหยุดไม่ให้น้ำร้อนขึ้น โดยการทำ net zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 

แต่ความจริงอีกมือหนึ่งยังหยิบเชื้อเพลิงสุมไฟต้มน้ำต่อไปเรื่อย ๆ
Net 
Zero 
สร้างภาพ “เด็กดี” ?
Image
แผนที่ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่ครอบคลุมหลายประเทศในทวีปเอเชีย เมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2023 จนได้ฉายาว่า Monster Asian Heatwave ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้คลื่นความร้อนรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ 
ที่ผ่านมาความพยายามสร้างความเข้าใจและความตระหนักในวิกฤตโลกร้อน ทำให้ต้องประดิษฐ์คำขึ้นมาใช้มากมาย 

ภาวะโลกร้อน - global warming, 
ปรากฏการณ์เรือนกระจก - greenhouse effect,
ก๊าซเรือนกระจก - greenhouse gases,
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ - climate change,
รอยเท้าคาร์บอน - carbon footprint, 
การปล่อยคาร์บอน - carbon emission,
ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ - climate emergency
Image
สวานเต อาร์เรเนียส
(Svante Arrhenius)
Image
วิกฤตความร้อนและไฟป่าที่จะรุนแรงและเกิดถี่ขึ้นจากภาวะโลกร้อน 
ภาพ : Unsplash/Mike Newbry
Image