Stonehenge
ในวันฟ้าทึมปริศนาแท่งหินตั้ง
กับหนังสือสามเล่ม
เรื่องและภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ตามขนบการเขียนสารคดี ผมควรเริ่มเรื่องนี้ด้วยฉากพระอาทิตย์ขึ้นของวันที่ ๒๑ มิถุนายน
ท่ามกลางผู้คนที่มารวมตัวบริเวณกลุ่มแท่งหินที่ตั้งและล้มระเกะระกะกลางเนินกว้าง รอเฝ้าดูตะวันโผล่พ้นขอบฟ้าสาดลำแสงสีเหลืองผ่านช่องแคบระหว่างแท่งหินในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือพอดิบพอดี
นี่คือวันที่พระอาทิตย์เดินทางตามขอบฟ้าขึ้นเหนือมาไกลสุดจากทิศตะวันออก เรียกว่าวันกลางฤดูร้อน midsummer ซึ่งกลางวันจะยาวนานที่สุด และกลางคืนสั้นที่สุด
นับแต่โบราณมนุษย์เฝ้าสังเกตหมุดหมายสำคัญของปีที่แสดงว่ากำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ช่วงเวลาที่ธรรมชาติจะเบิกบานไปอีก ๖ เดือนก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
และสำหรับผู้เชื่อในพลังเหนือธรรมชาติ midsummer คือเวลาแห่งพิธีกรรมอ้าแขนรับพลังอำนาจนั้นมาไว้กับตัว
แต่หยุดก่อน ๆ...กลับสู่ความจริงตรงหน้า
ผมยืนอยู่ที่สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ประเทศอังกฤษ ตอนบ่ายวันหนึ่งของปลายเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ หกเดือนหลัง midsummer และ ๕-๖ วันหลังวันกลางฤดูหนาว midwinter (วันที่ ๒๑ ธันวาคม กลางวันสั้นที่สุด กลางคืนยาวนานที่สุด) แถมเป็นวันที่ฝนตกมาตั้งแต่เช้า ลมกระโชกและอุณหภูมิต่ำใกล้ ๐ องศาเซลเซียส
ท้องฟ้าขมุกขมัว นักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติยืนออดูกองแท่งหินสีเทา ๆ ที่อยู่ห่างออกไปจากแนวกั้นทางเดิน บางคนถ่ายรูปให้กัน บางคนถ่ายเซลฟีเสร็จก็เดินจากไป เปิดช่องให้คนรอข้างหลังเข้าไปดูต่อ กองหินที่มีแท่งหินตั้งบ้าง ล้มบ้าง ดูจับทิศทางและรูปแบบไม่ได้ ยิ่งในระยะห่างนี้ สโตนเฮนจ์ดูเล็กกว่าที่เราจินตนาการถึงจากภาพที่เคยเห็นในหนังสือ มันไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการสมคำร่ำลือ นึกถึงคำเตือนของเพื่อนที่เคยผิดหวังกับการมาดู “กองหินโง่ ๆ”
สังเกตแท่งหินที่ล้อมวงนอก (ที่คนยืนอยู่) กับหิน Trilithon ข้างในวงทางซ้ายของภาพ
สงสัยตัวเองและคนอื่น ๆ เหมือนกันว่ามาดูอะไร ความมหัศจรรย์ของมันอยู่ตรงไหน
เดินชมตามทางที่กำหนดไว้ให้อย่างผิดหวัง เพราะเส้นทางเลียบแค่ด้านตะวันตกของวงแท่งหิน ไม่ครบรอบ และไม่อาจเข้าไปใกล้แท่งหินได้เลย มุมมองอีกด้านคือทางเดินฝั่งทิศเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งของหินทรงสามเหลี่ยมใหญ่ก้อนหนึ่งก็ยิ่งห่างจากวงแท่งหินไปหลายสิบเมตร
พระอาทิตย์คล้อยต่ำ ผมนั่งรถบัสรับส่งนักท่องเที่ยวกลับมาที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ได้หนังสือเกี่ยวกับสโตนเฮนจ์สามเล่มกับโมเดลที่ระลึกมาปลอบใจ
เมื่อเริ่มอ่านหนังสือ ผมจึงตระหนักว่ามีหลายสิ่งเหลือเกินที่พลาดไปอย่างมหันต์ในวันนั้น
และสโตนเฮนจ์ไม่ใช่แค่ “กองหินโง่ ๆ” แต่เป็นเราเองที่โง่เขลา
[๑]
STONEHENGE
Panorama Pops
ผมชอบงานป็อปอัป พอเห็นหนังสือขนาดเล็กกะทัดรัดเล่มนี้ในร้านจำหน่ายของที่ระลึกของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ก็ตัดสินใจซื้อไม่ยาก ตัวอักษรบนปกระบุชื่อผู้วาดคือ กอร์ดี ไรต์ (Gordy Wright) สำนักพิมพ์ Walker Books พิมพ์ที่ประเทศจีน รูปเล่มแบบหีบเพลง พับทบกันหกพับเวลากางหน้าพับรูปสโตนเฮนจ์หรือแท่งหินต่าง ๆ จะเด้งออกมา เป็นป็อปอัปที่ทำแบบเรียบง่าย คือแผ่นภาพวางซ้อนภาพแบ็กกราวนด์บนหน้าขวาและเชื่อมขอบแผ่นภาพติดกับหน้าซ้าย