Image
เชื้อไชยา
เรื่อง : วรากร แก้วทอง
ภาพ : ณิชกานต์ ช่างสาร
“มวยไชยาก็เหมือนลูกทุเรียน แตะตรงไหนก็เจ็บตรงนั้น”
ท่ามกลางเสียงหรีดหริ่งเรไรในยามบ่ายคล้อยต่อเย็น ใต้เงาไม้ใหญ่น้อยแห่งอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่ มีเสียงตุ๊บ ตั๊บ โอ๊ย ในลำเนาไพร ชายสวมชุดผ้าฝ้ายสีดำ มีผ้าไหมสีทองผูกสะเอว นั่งอยู่บนครกตำข้าวขนาดใหญ่ แล้วให้ชายอีกสามคนซึ่งแต่งกายคล้าย ๆ กันยืนประเคนหมัด เข่า แข้ง ไม่ยั้งมือ

แม้ผู้นั่งจะโดนรุม แต่เสียงร้องโอดโอยกลับมาจากผู้ยืน ต่างกุมขา แขน แสดงถึงอาการเจ็บปวดไปตาม ๆ กัน นี่คือการ “นั่งครก” เพื่อฝึกป้อง ปัด และปิดส่วนสำคัญของร่างกายมิให้อาวุธใดเข้ามาทำร้ายได้ เป็นการทบทวนวิชาขั้นสุดท้ายก่อนนักมวยไชยาจะขึ้นสังเวียน

“มวยไชยาก็เหมือนลูกทุเรียน แตะตรงไหนก็เจ็บตรงนั้น”
Image
นั่งครกมวยไชยา เป็นหนึ่งในการฝึกฝนและทดสอบการป้องกันตัวแบบ ๔ ป คือ “ป้อง ปัด ปิด เปิด” เมื่อฝึกจนชำนาญแล้ว ก็จะเข้าใจและรู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังเผชิญหน้ากับการใช้ลูกไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตามจะต้องใช้วิชาป้องกันตัวได้
ทุกคนเรียนมวยไชยาได้ เริ่มต้นด้วยการจัดระเบียบท่าทางที่ถูกหลัก เมื่อมีพื้นฐานดี ก็จะทำให้การฝึกฝนมวยไชยาดำเนินไปอย่างลื่นไหลและต่อยอดได้ไม่รู้จบ
สำนวนเปรียบเปรยอมตะของ เขตร ศรียาภัย บรมครูแห่งมวยไชยาที่มักจะพูดกับศิษย์ทุกครั้งยามสอน หากมวยไชยาเปรียบได้ดั่งลูกทุเรียน ผู้ที่ยืนกุมแขนกุมขาอยู่นั้นคงเจอเข้ากับทุเรียนพันธุ์ดีเลยทีเดียว

ครูเชน หรือพันตำรวจโท ราเชนทร์ สวนคำศรี รองผู้กำกับการ ๒ กองบังคับการตำรวจน้ำ ผู้นั่งอยู่บนครก เริ่มสนใจมวยโบราณสายนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เมื่อเป็นนักเรียนนายเรือชั้นปีที่ ๒ แล้วเกิดความรู้สึกว่าถ้าเรียนจบไปเป็นตำรวจก็ควรจะมีวิชาดีไว้ป้องกันตัว ประกอบกับการพบเจอครูแปรง-ณปภพ ประมวญ ปรมาจารย์มวยไชยาและวิชากายวุธ ที่เข้าไปสาธิตศิลปะการต่อสู้ในโรงเรียนนายเรือ จึงถือโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์และเริ่มเรียนมวยไชยาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
Image