Image
10 เกร็ด
"เสด็จเตี่ย" EP.01
๑๐๐ ปี วันสิ้นพระชนม์ 
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
๒๔๖๖-๒๕๖๖
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
ผมถือแบบฟอร์มขออนุญาตค้นคว้า ที่กรอกรายชื่อหนังสือพร้อมทั้งเลขทะเบียนและลงลายมือชื่อ ไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ที่นั่งตรงเคาน์เตอร์ แล้วกลับมานั่งรอที่โต๊ะอ่านหนังสือ

ชายร่างใหญ่ในชุดสีกากีคนนั้นชำเลืองดูแผ่นกระดาษใบเล็กด้วยหางตา ดึงลิ้นชักพร้อมล้วงหยิบกุญแจพวงเบ้อเริ่มออกมา ลุกขึ้นเดินตรงไปยังตู้สูงจดเพดานใบหนึ่งในจำนวนนับสิบที่ตั้งเรียงชิดผนัง ล้อมรอบเหมือนเป็นฝาสี่ด้านของห้องสมุด บรรจงไขกุญแจ แง้มบานกระจกกรุไม้สลักลายพรรณพฤกษาแบบอาร์ตนูโว แล้วเอื้อมหยิบหนังสือปกแข็งเล่มบางๆ เล่มหนึ่งลงมาจากชั้น เดินถือกลับมาส่งให้ผม
...
ตอนสายวันหนึ่งของเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ หลังจากนั่งรถเมล์หลายทอด ในที่สุดผมก็มาถึงหอสมุดดำรงราชานุภาพ ถนนหลานหลวง กรุงเทพฯ

ตอนนั้นผมกำลังค้นคว้าเรื่องกรมหลวงชุมพรฯ ตามที่ได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี และที่ต้องไปถึงหอสมุดดำรงราชานุภาพ ก็เพื่อขอดูหนังสือจดหมายเหตุเรื่องเซอเชมสบรุกเข้ามาขอทำสัญญาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ ที่ระลึกในงานพระเมรุท้องสนามหลวงของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๖๖

หอสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณวังวรดิศ อดีตที่ประทับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งหนังสือส่วนใหญ่ล้วนมีที่มาจากกรุส่วนพระองค์ของสมเด็จฯ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์-โบราณคดีไทย อีกทั้งยังทรงเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำหนังสืองานศพเล่มนี้ ในนามหอพระสมุดวชิรญาณ

ปัจจุบัน แค่มีโทรศัพท์มือถือกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตใคร ๆ ก็หาหนังสือเล่มนั้นได้ง่ายดาย เพราะหลายหน่วยงานนำมาสแกนแล้วเผยแพร่ออนไลน์ในรูปแบบไฟล์ .pdf จะนั่งอ่านอยู่ที่บ้าน หรือในร้านกาแฟที่ไหนสักแห่ง แม้แต่จะดาวน์โหลดไฟล์มาเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวก็ทำได้

แต่เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกระดับนี้ยังมาไม่ถึง

การค้นคว้าในครั้งนั้นของผมมีปลายทางคือต้นฉบับบทความลงพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๒๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๖ ว่าด้วยพระประวัติของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ปี ๒๔๒๓-๒๔๖๖)

สิ่งที่ต้องการคือให้ผู้อ่านได้ “ทำความรู้จัก” กับกรมหลวงชุมพรฯ โดยผมทดลองเล่าเรื่องทั้งหมดเป็น “ระนาบ” ซ้อนกันอยู่สามชั้น

ภาคต้นหรือชั้นบนสุด คือพระประวัติฉบับมาตรฐานที่รับรู้กันทั่วไป ในฐานะบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในหน้าประวัติ-ศาสตร์ ผู้ได้รับยกย่องให้เป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และมีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างกองทัพเรือสมัยใหม่ขึ้นในสยาม

ชั้นถัดมา คือภาคกลาง อันเป็น “ระหว่างบรรทัด” ของพระประวัติชั้นแรก เป็นการทบทวน ตั้งคำถาม และทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพระชนมชีพ
Image
“ตึกยาว” ของสวนกุหลาบวิทยาลัย หรือ “โรงเรียนสวนกุหลาบ” สถานศึกษาที่มีประวัติ สืบเนื่องมาจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ อันมีกรมหลวงชุมพรฯ เป็นนักเรียนเก่าด้วยพระองค์หนึ่ง
Image
เวลา ๑๕.๕๗ น. ของวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๓ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระโอรสลำดับที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด จากสกุลบุนนาค
ข้อมูลพระประวัติพระองค์เจ้าอาภากรฯ เมื่อทรงพระเยาว์มีไม่มากนัก สันนิษฐานเพิ่มเติมจากบริบทแวดล้อมได้ว่าพระองค์ทรงเติบโตขึ้นภายในพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง ท่ามกลาง “เจ้าพี่เจ้าน้อง” จำนวนมาก

ยังมีของเล่นส่วนพระองค์สมัยทรงพระเยาว์ซึ่งตกทอดมาในราชสกุล สำหรับ “เล่นหม้อข้าวหม้อแกง” เป็นภาชนะต่าง ๆ ย่อส่วน เช่น ชามฝาขนาดต่าง ๆ พร้อมถาดและช้อนอันเล็ก ๆ ทั้งหมดทำด้วยเงิน
Image