Image

“The King of 16 mm. Film”
มิตรในมุม “นักมิตรศึกษา”
อิงคศากยะ นรวโร ภิกขุ

มุงมองมิตร

สัมภาษณ์ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

อิงคศากยะ นรวโร ภิกขุ เป็นคนแรกที่ศึกษาเรื่องราวของ มิตร ชัยบัญชา นำมาเขียนเล่าใหม่อย่างจริงจังเป็นระบบผ่านการศึกษาค้นคว้า สัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องร่วมสมัยกับมิตรอย่างกว้างขวางทั่วถึงที่สุด รวมทั้งอาจเป็น “นักมิตรศึกษา” ที่เขียนถึงมิตรไว้มากที่สุดด้วย ดูได้จากหนังสือ เอกสารต่าง ๆ ที่เขียนถึงมิตรในช่วงหลังมานี้ล้วนมักอ้างถึง อิงคศักย์ เกตุหอม ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับที่ปรากฏเมื่อค้นในระบบออนไลน์

จากนิทรรศการรำลึก มิตร ชัยบัญชา เมื่อปี ๒๕๒๖ ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่มิตรมุ่งมั่นจะตั้งโรงหนังชัยบัญชา  กลายเป็นจุดบันดาลใจแรกให้กับชายหนุ่มจากครอบครัวคนดูหนัง จากอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ อยากรู้อยากบันทึกเรื่องราวของพระเอกขวัญใจมหาชนคนดูหนัง ที่เขาให้สมญาว่า “The King of 16 mm. Film” ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างตรงตามความเป็นจริง ไม่ให้เรื่องราวเลือนรางไปอย่างหลายนามในประวัติศาสตร์ไทย

ทำไมท่าน
จึงเขียนเรื่อง
มิตร ชัยบัญชา

สมัยหนึ่งเคยปรากฏชื่อพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งกลายมาเป็นตัวละครในนวนิยาย ล่องลอยอยู่ในอากาศ ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ สืบประวัติ ทำความจริงให้ปรากฏว่าเป็นเรื่องจริงหรือแค่เรื่องเล่าปากเปล่า เป็นเพราะสังคมไทยไม่เขียนบันทึก ไม่อ่านหนังสือ อาจแค่เล่าปากเปล่า สังคมไทยเป็นอย่างนี้ เด็กพอโตขึ้นมาหน่อยจับกลุ่มเฮฮา วงเหล้านี่ถือว่าสนุกที่สุดแล้ว นั่งกินเหล้ากินกับแกล้ม ใครคิดอะไรได้ก็เล่ากันขึ้นมา คุยกันได้ยันสว่าง พอสร่างเมาก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หมดเวลาไปวัน ๆ คืน ๆ โดยไม่ได้ครีเอตอะไรขึ้นมา สำคัญคือไม่มีการจดบันทึก นี่เป็นสิ่งที่เราคิดว่าต้องทำ ไม่งั้นผ่านไปสัก ๕๐๐ ปี มิตร ชัยบัญชา ก็จะไม่ต่างจากพันท้ายนรสิงห์ ล่องลอยอยู่ในอากาศ ในวงเหล้าของนักแสดงรุ่นใหม่ ๆ ที่ไม่มีตัวตนที่แท้จริง

Image

Image