Image

กะปิกุ้งฝอย
ของอร่อยจากท้องนา

ไทยเจริญรส

เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ในวิถีชีวิตเกษตรกรรมของชาวบ้านไทยภาคกลางแต่โบราณ ช่วงหน้าน้ำคือฤดูกาลแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยว่าน้ำหลากจะพัดพาเอาดินตะกอนมาตกลงในท้องทุ่ง เป็นปุ๋ยอย่างดีวิเศษ แม้ว่าเดี๋ยวนี้สันเขื่อนกั้นแม่น้ำใหญ่ อาจดักตะกอนธรรมชาติไปเสียหมดแล้ว

“ปีนี้น้ำมาก 
เกิดมา ๕๐ กว่าปี 
ไม่เคยเจอ”

กลางเดือนมกราคม ๒๕๖๕ ที่ใต้ถุนเรือนยกพื้นหลังใหญ่ในหมู่ที่ ๑ บ้านไผ่ลูกนก ตำบลเจดีย์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี “พี่นพ” มานพ ศรีเหรา เล่าถึงสภาพน้ำท่วมช่วงปลายปีที่แล้ว (ปี ๒๕๖๔)

ผมถามว่าน้ำท่วมสูงแค่ไหน พี่มานพเอาสันมือทาบตรงกลางหน้าแข้งให้ดูแทนคำตอบ

แต่ไหนแต่ไรมา กว่าน้ำเหนือจะไหลบ่าลงเจิ่งนองทุ่งก็ต้องเป็นช่วงปลายปี แต่ช่วงหน้าน้ำปี ๒๕๖๔ ภาครัฐจัดการผันน้ำเหนือลงทุ่งต่าง ๆ ในปริมณฑลรอบนครหลวง เพื่อป้องกันน้ำท่วม “ไข่แดง” คือกรุงเทพฯ  ท้องนาของชาวบ้านย่านนี้ที่ข้าวกำลังแตกรวงรอเก็บเกี่ยวจมมิดไปโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน  มิหนำซ้ำปีที่ผ่านมาน้ำท่วมขังยาวนานเป็นประวัติการณ์กว่า ๔ เดือน สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัส

น้ำเพิ่งเริ่มลงช่วงก่อนปีใหม่ ๒๕๖๕ นี่เองตามปรกติ ปลายหน้าน้ำชาวบ้านจะดักปลาดักกุ้งในทุ่งนาได้อีกพักใหญ่ จนน้ำเริ่มแห้ง แล้วจึงกลับเข้าสู่วงรอบของฤดูกาลทำนา แต่เมื่อน้ำนอนทุ่งหลายเดือนเข้า กุ้งปลาจึงมีเวลาเติบใหญ่ได้นานเป็นพิเศษ  พี่นพเล่าพร้อมกับกางมือเหยียดสุดแขน ว่าถึงกับได้ปลาเค้า “ตัวขนาดนี้” ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน

คอนโดเป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำสมัยใหม่ รูปทรงเป็นหลอดตาข่ายทรงกระบอกขึงเข้ากับห่วงโลหะ ขนาดสั้นยาวกำหนดด้วยจำนวนห่วง คงเพราะเมื่อกางออกแล้วดูเป็นชั้น ๆ เหมือนตึกคอนโดมิเนียม เลยเป็นที่มาของชื่อเรียก “คอนโด” ข้อดีของคอนโดคือพับเก็บได้ ขนย้ายสะดวก

ชาวกรุงทั่วไปอาจคุ้นเคยกับกะปิและปลาร้าในฐานะของกินจากเมืองชายทะเลและจังหวัดทางภาคอีสาน แต่อันที่จริงชาวนาภาคกลางก็ทำกะปิ ปลาร้า น้ำปลา กุ้งแห้ง กินกันมาแต่ไหนแต่ไร วันนี้เราจึงบุกครัวหลังบ้านพี่เล่ ไปขอดูขั้นตอนการทำกะปิจากกุ้งฝอย

Image