ชาวประมงออกเรือลาก “สนั่น” ไปตามแม่น้ำยม หลังฤดูน้ำหลากของทุกปี แม่น้ำยมที่อำเภอกงไกรลาศจะเต็มไปด้วยปลานานาชนิด เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านออกหาปลากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ไปตามหา
น้ำปลาดี
ที่กงไกรลาศ
ไทยเจริญรส
เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
วิถีชีวิตคนกงไกรลาศเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยุคปัจจุบันแทบไม่มีบ้านไหน หมักน้ำปลาไว้กินเองอีกแล้ว ขณะที่โรงงานน้ำปลาท้องถิ่นบางรายต้องเลิกกิจการไปเพราะไม่มีลูกหลานสืบทอด
เวลาน้ำท่วมชาวบ้านที่อื่นเขาเดือดร้อนแต่คนกงไกรลาศชอบเพราะได้จับปลากันเต็มที่”
คำกล่าวข้างต้นของน้านวล คนบ้านกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตผู้คนในท้องถิ่นเกิดของเธอได้เป็นอย่างดี
อำเภอกงไกรลาศตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสุโขทัยในบริเวณลุ่มน้ำยมตอนล่างพอถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะไหลหลากเข้าท่วมทั่วพื้นที่ราว ๓ เดือน ชักพาปลาหลากหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ในท้องทุ่งไร่นาพื้นที่การเกษตรที่จมน้ำ
กระทั่งน้ำเริ่มลด ฝูงปลาก็จะไหลตามน้ำกลับลงสู่แม่น้ำยม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านออกหาปลากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ด้วยแม่น้ำยมจะอุดมด้วยปลานานาชนิด โดยเฉพาะฝูงปลาสร้อยที่มีจำนวนมากและเหมาะกับการนำไปหมักทำน้ำปลารสดี
ชาวกงไกรลาศรู้จักการหมักน้ำปลาไว้กินเองในครัวเรือนมาตั้งแต่อดีต แล้วสืบทอดกันมาถึงปัจจุบันหลายครอบครัวขยับขยายไปสู่การผลิตน้ำปลาเพื่อขาย กระทั่งพัฒนาไปเป็นสินค้าท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ
ทุกวันนี้อำเภอกงไกรลาศจึงกลายเป็นแหล่งผลิตน้ำปลาจากปลาสร้อยที่มีชื่อเสียงหลายเจ้า เช่น น้ำปลาเด็ดดวง น้ำปลาจำนงค์ น้ำปลาโกเชียร-เจ๊จิว น้ำปลาแม่เรณู รวมทั้งน้ำปลาน้านวล
“เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่กินน้ำปลาผสม เขาไม่เข้าใจว่าน้ำปลาปลาสร้อยแท้มันต้องเค็ม บางคนได้กลิ่นแล้วบอกว่าเหม็น เพราะกลิ่นมันแรง”
ช่วยกันคัดแยกปลาที่จับมาได้เพื่อส่งขายให้พ่อค้าคนกลาง หากเป็นปลาสร้อยมักถูกซื้อไปทำปลาร้าและน้ำปลา