บูดู
เมนูเด็ดชายแดนใต้
ไทยเจริญรส
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ตลอดแนวชายหาดของตำบลกะลุวอเหนือ เรื่อยมาจนถึงหาดบ้านทอน ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นบูดูมาแต่เดิม แม้ว่าต่อมาชุมชนชายฝั่งทางเหนือขึ้นมาแถบอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จะพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างแบรนด์จนมีชื่อเสียงกว้างไกลมากกว่า แต่ก็ยังรู้กันในแถบชายแดนใต้ว่า หากจะกินบูดูแบบพื้นบ้านดั้งเดิมต้องมาที่นราธิวาส ซึ่งตอนนี้แหล่งผลิตใหญ่ อยู่ ที่บ้านบาเฆะ
โอ่งขนาดเกินคนโอบวางเรียงรายน่าตื่นตา บ้างกระจายอยู่ตามสวนมะพร้าว ลานหน้าบ้าน รวมทั้งบนลานทรายริมชายหาด จนดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชายทะเลแถวนราธิวาส
“ให้แดดลมช่วยไล่พวกเชื้อโรคหนอนแมลง” คนทำบูดูแถวบ้านบาเฆะอธิบาย
เขาจึงวางโอ่งหมักบูดูนับร้อยใบไว้บนลานทรายแถวริมหาดหน้าหมู่บ้านบาเฆะ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส
ต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้ผู้คนทุกถิ่นต่างมีความรู้อย่างเดียวกันมาแต่โบราณว่า จะเก็บปลาไว้ให้ได้นานและอร่อยต้องทำให้เน่า !
บูดูเป็นอาหารหลักคนชายแดนใต้ มีแหล่งผลิตในท้องถิ่น แต่ตอนหลังมีการบรรจุภัณฑ์ส่งออกขายทั่วไป รวมทั้งมีการแปรรูปเป็นบูดูแห้งแบบกะปิ น้ำปู๋ด้วย
แต่แทนการปล่อยให้เปื่อยเน่าตามธรรมชาติ ก็ใช้เกลือดองช่วยควบคุมการย่อยสลายให้พอดี กลายเป็นการถนอมอาหารเก็บไว้กินได้ยาวนาน และได้เครื่องปรุงรสชั้นเลิศที่มีอยู่ในครัวของผู้คนทุกวัฒนธรรม
“ที่นี่บูดูสำคัญกว่าน้ำปลา พ่อแม่สอนให้กินบูดูมาแต่ครั้งไหนไม่รู้” ตามคำเล่าของ เจะปูรอ บินหะมะ ชาวบ้านทอน “คนโบราณใช้บูดูแทนน้ำปลา ทำอาหารทำก๋วยเตี๋ยวใส่บูดูอร่อย”
“บูดูเป็นชูรสของทางใต้ใช้หมักเนื้อ ทอดเนื้อ ดีกว่าใส่ผงชูรส”
ปภาณ จุลยานนท์
คนทำบูดูบ้านบาเฆะ
ริมถนนเลียบทะเลสายบ้านทอน-นราธิวาส มีภาพแบบนี้ให้เห็นอยู่เป็นระยะ โอ่งมีฝาปิดวางเรียงอยู่เป็นกลุ่มๆ เป็นที่น่าตื่นตาและใคร่รู้ถึงสิ่งที่อยู่ข้างใน-สำหรับคนที่เพิ่งเคยเห็น คำตอบคือบูดู อาหารหลักของคนชายแดนใต้