เมื่อรถ EV จะ
“Made in
Thailand”
scoop
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
หลายทศวรรษ ที่ผ่านมา
เป็นที่รู้กันในวงการยานยนต์ว่า อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในไทยสามารถส่งออกรถยนต์ได้มากจนไทยได้รับสมญาว่า “ดีทรอยต์เอเชีย” ทั้งนี้เฉพาะปี ๒๕๖๔ สภอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า มูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนมีถึง ๙๐๗,๒๖๒.๒๕ ล้านบาท
แต่อุตสาหกรรมรถยนต์แบบสันดาป (ICE) ของไทยนั้น ตกอยู่ใต้เงาทะมึนของทุนญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขณะผู้ประกอบการไทยมักมีบทบาทเพียงตัวแทนจำหน่าย รับจ้างผลิตชิ้นส่วน ในแง่บุคลากรคนไทยที่มีความสามารถก็มักกลายเป็นลูกจ้างบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น
จนมีคำกล่าวว่า แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นบริษัทผลิตรถยนต์สันดาปสัญชาติไทยเกิดและแข่งขันได้ เพราะพึ่งพิงทุนและเทคโนโลยีต่างชาติมานาน ไม่สามารถพัฒนาได้ทันและไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนอีก
ทว่าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่าเป็นโอกาสดีที่สุดที่อาจได้เห็น “รถยนต์แบรนด์ไทย” ในตลาดด้วยเป็นเทคโนโลยีเข้าถึงง่าย ซับซ้อนน้อยกว่า ไม่ว่ามอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่
ท่ามกลางสถานการณ์ค่ายรถจีนบุกตลาดไทย ในฝั่งผู้ประกอบการไทยมีความเคลื่อนไหวจำนวนมาก บ้างเตรียมตั้งรับ บ้างเริ่มเดินหน้าไปกับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า เช่น สร้างแบรนด์รถไทย ริเริ่มธุรกิจเปลี่ยนระบบสันดาปเป็นไฟฟ้าสร้างรถ EV ตามสั่ง (custom made)
เรื่องราวของพวกเขาบางส่วนต่อไปนี้ อาจเป็น “หน่ออ่อน” อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย
ที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“การเปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำให้คนไทยเข้าถึง EV มากขึ้น”
ไพศาล ตั่งยะฤทธิ์
ผู้ก่อตั้ง บริษัทอีวี คาร์ ไทยแลนด์ (จำกัด)
หากจะมีใครสักคนที่ “มาก่อนกาล” เรื่องรถ EV และความพยายามหาแหล่งพลังงานทดแทนให้รถในเมืองไทย หนึ่งในชื่อนั้นย่อมต้องมีนามของ ไพศาล ตั่งยะฤทธิ์ อยู่ด้วย
กว่า ๓๘ ปีแล้วที่ไพศาลก่อตั้งบริษัทอีวี คาร์ ไทยแลนด์ (จำกัด) เพื่อทำภารกิจนี้ตั้งแต่ยุคที่นำก๊าซ LPG (ก๊าซหุงต้ม) มาใช้แทนน้ำมัน “ยุคนั้น (ราวปี ๒๕๒๗/ค.ศ. ๑๙๘๔) ราคาน้ำมันขึ้นสูงมาก คนหาทางประหยัดค่าใช้จ่าย ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล มีกิจการเปลี่ยนระบบน้ำมันเป็นก๊าซแค่สองราย เราเป็นหนึ่งในนั้น พอทำได้ดีคนก็บอกกันปากต่อปาก จำได้ว่าแท็กซี่แทบจะมาเปลี่ยนเป็นก๊าซทั้งจังหวัด วันหนึ่งทำได้ ๑๐ คัน รถจอดเต็มหน้าอู่ คิวยาวอย่างต่ำ ๓ เดือน”
ไพศาลเล่าจุดเริ่มต้น...
“ถ้าช่างไม่ปรับตัว
จะอยู่ยากขึ้น”
วีระศักดิ์ แป้นพ่วง (ช่างดำ)
เจ้าของ WP.WPEV/อู่รถไฟฟ้าลำพูน
ในวงการดัดแปลงรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า อีกชื่อหนึ่งที่คนในวงการช่างไทยรู้จักดีคือ วีระศักดิ์ แป้นพ่วง (ช่างดำ) วัย ๓๒ ปี ที่ผ่านประสบการณ์สร้างรถยนต์ไฟฟ้าด้วยตัวเองมาหลายคัน ก่อนลงเอยเปิดกิจการรับดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง
ช่างดำมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี คุณพ่อเปิดอู่ซ่อมรถยนต์ทำให้เขาเห็นภาพการซ่อมรถมาตั้งแต่เด็ก “จำความได้ก็คือภาพการซ่อมช่วงล่างรถยนต์ ผมทำงานในอู่ของพ่อจนอายุ ๑๘ ปี พ่อก็เลิกทำ ความรู้สึกคือ เบื่อน้ำมัน เบื่อเสียงดัง ความร้อน สมัยนั้นเรียนอยู่ที่วิทยาลัยสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใส จังหวัดสุพรรณบุรี ผมทำโปรเจกต์เรียนจบด้วยการทำรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ จำได้ว่าไม่มีใครสนับสนุน เพราะไม่มีกระแสรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนตอนนี้”
ช่างดำจำไม่ได้แน่ชัดว่าสนใจรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เมื่อใด แต่สิ่งที่เขาทำก่อนเรียนจบคือนำรถยนต์ที่จอดเสียค้างอยู่ในอู่ของพ่อมาใส่มอเตอร์ไฟฟ้า “ทุกอย่างทดลอง ความรู้จากอินเทอร์เน็ต ออกมาเป็นรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์หนึ่งที่นั่ง โดยใช้แบตเตอรี่รถยนต์ (car battery) เป็นตัวเก็บและจ่ายไฟ”
“ถ้าสองแถวแดงเป็น EV
เชียงใหม่จะเปลี่ยนไป”
ภูดิท คีตโรจน์
กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจพี โมโต คลาสสิค ผู้ริเริ่มเปลี่ยน “รถแดงเชียงใหม่” เป็นรถ EV
กลางปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสสนใจรถ EV ในยุคน้ำมันแพง มีข่าวเล็ก ๆ ในโลกออนไลน์ว่า “คนเชียงใหม่เริ่มสนใจ ดัดแปลง จยย. เป็นรถใช้ไฟฟ้าควบน้ำมัน ๑ ปีก็คุ้มทุน” (ไทยรัฐออนไลน์, ๗ มิถุนายน ๒๕๖๕/ค.ศ. ๒๐๒๒)
เนื้อข่าวระบุว่า ที่บริษัทเจพี โมโต คลาสสิค หรือ “อู่เจพี” มีลูกค้านำมอเตอร์ไซค์แบบสันดาปมาทำเป็นมอเตอร์ไซค์ไฮบริด (ใช้ได้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า) จำนวนมาก โดยทางอู่เสนอทางเลือกเพิ่มคือเปลี่ยนเป็น “มอเตอร์ไซค์ EV” (ใช้ไฟฟ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์) ได้ด้วย ใช้งบประมาณ ๒ หมื่นบาท ทั้งนี้หากคิดค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ใช้ราว ๑ ปีก็จะคืนทุน
ภูดิท คีตโรจน์ เจ้าของอู่บอกว่า ความคึกคักนี้เพิ่งเกิดไม่นาน ในอดีตต้องล้มลุกคลุกคลานพักใหญ่จากธุรกิจดัดแปลงรถสันดาปเป็นรถ EV แต่โครงการที่เขาทุ่มเทมากคือเปลี่ยนรถสองแถวแดง ระบบขนส่งอันเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่เป็น EV เพื่อให้เชียงใหม่สะอาดขึ้น