Image

จุดชาร์จประจำบ้านของรถยนต์ยี่ห้อ MG  ในอนาคตอุปกรณ์นี้จะกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้านสำหรับคนมีรถ EV ไม่ต่างกับปลั๊กคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์ดูดฝุ่น 

รถ (ยนต์) ไฟฟ้า
(กำลัง)  มาหานะเธอ

scoop

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

BYD มาแรง คนไทยแห่ต่อคิวซื้อสูสีไอโฟน ! คิวแรกเฝ้าตั้งแต่ ๒ ทุ่ม 

amarintv.com (๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕)

ถ้านั่งไทม์แมชีนย้อนเวลากลับไปราว ๑๐ ปี เพื่อบอกคนไทยในอดีตว่าช่วงปลายปี ๒๕๖๕/ค.ศ. ๒๐๒๒ การซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะไม่ต่างจากซื้อไอโฟน และรถยนต์ประเภทนี้กำลังจะครองถนน

คนยุคนั้นคงมองว่าไม่เพี้ยนก็ฝัน ด้วย ณ ปี ๒๕๕๕/ค.ศ. ๒๐๑๒ กรมการขนส่งทางบก รายงานสถิติว่า มีรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคนที่เป็นรถไฟฟ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทั่วประเทศทั้งหมดเพียง ๑๗ คัน 

ตอนนั้นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจำกัดอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ และอีกส่วนหนึ่งเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสำหรับใช้งานตามวัตถุประสงค์เฉพาะ ส่วนรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาเหยียบหลัก ๑ ล้านบาทปลาย ๆ  รถยนต์แบบสันดาปจึงยังคุ้มค่ากว่าเมื่อคิดถึงราคาและภาระการเติมน้ำมัน

คำเตือนเรื่องราคาพลังงาน ภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว

แต่ใช้เวลาเพียง ๑๐ ปี ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

ราคาน้ำมันดีดขึ้นสูงจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะพายุ น้ำท่วม ความแห้งแล้ง ฯลฯ เร่งให้มนุษยชาติต้องหาทาง “เปลี่ยนผ่าน” จากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดให้เร็วที่สุดเพื่อจำกัดความเสียหาย 

ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลายเป็นวาระหลักในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (COP)

แบตเตอรี่ lithium-ion ที่เก็บพลังงานได้มากขึ้น ปลอดภัยขึ้น เริ่มหาง่ายในตลาด การเข้าถึงเทคโนโลยีมอเตอร์ไฟฟ้าทำได้ง่ายกว่าเครื่องยนต์สันดาป

รถ (ยนต์) ไฟฟ้าจึงกำลัง “มาหานะเธอ” โดยมีเสียงตอบรับดีอย่างน่าฉงน แม้คนจำนวนมากอาจยังสับสนว่า สิ่งที่เรียกว่า “รถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle - EV)” นั้นจริง ๆ แล้วคืออะไร

และเรากำลังเผชิญสถานการณ์แบบไหน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ายึดครองถนน...

EV :
ยุคทองและ
ความชะงักงัน

สำหรับคนที่เกิดไม่ช้ากว่าคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ ลักษณะ (character) หรือภาพจำของรถยนต์คือ เสียงเครื่องดังตลอดเวลาที่รถทำงาน มีไอเสียจากการเผาไหม้ในห้องเครื่องยนต์ทั้งขณะวิ่งและจอด อัตราเร่งเพิ่มขึ้นตามรอบเครื่องยนต์ การบำรุงรักษามีรายละเอียดมาก โดยเฉพาะเรื่องของเหลว (น้ำมัน น้ำมันเครื่อง ฯลฯ)

ลักษณะข้างต้นคือ “รถยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine - ICE)” เทคโนโลยีที่ใช้ในรถยนต์ทั่วโลกมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙  หลักการทำงานโดยย่อคือ ในเครื่องยนต์จะมีการจุดระเบิดเผาไหม้เชื้อเพลิง (น้ำมัน) กับอากาศ ทำให้ลูกสูบเคลื่อนไหวและส่งกำลังไปขับเคลื่อนรถ

Image

จุดชาร์จรถ EV สาธารณะในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๓ คิดค่าบริการชั่วโมงละ ๒๕ เซนต์  ในทศวรรษ ๑๙๗๐ การใช้รถ EV อยู่ในภาวะซบเซา แม้ว่าราคาน้ำมันเริ่มเพิ่มขึ้นจากวิกฤตการณ์หลายครั้ง 
ภาพ : Seattle Municipal Archives

รถยนต์สันดาปเริ่มพัฒนาโดยนักประดิษฐ์ชาวตะวันตกหลายคนตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนที่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ต่อเนื่องต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นการถือกำเนิดของเครื่องยนต์สองจังหวะโดย คาร์ล เบ็นทซ์ (Carl Benz) การผลิตรถยนต์ขายเชิงพาณิชย์เริ่มแพร่หลาย ที่สำคัญคืองานของ รูด็อล์ฟ ดีเซิล (Rudolf Diesel) ผู้ประดิษฐ์เครื่องยนต์แบบใช้อากาศอัด (เครื่องยนต์แรงอัดสูง) ทำให้เครื่องยนต์สันดาปมีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่อมาการค้นพบแหล่งน้ำมันจำนวนมากช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ยังทำให้ราคาน้ำมันต่ำโดยคนจำนวนมากสามารถเข้าถึงได้

ขณะเดียวกันรถยนต์ไฟฟ้า (battery electric vehicle - BEV) เทคโนโลยีที่เติบโตในห้วงเวลาใกล้กันก็ถูกลืมและเลือนหายไปจากความรับรู้ของผู้คน แม้ปรากฏบันทึกว่าได้รับการคิดค้นมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๒๘

เชื่อกันว่า แอนยอส อิสต์วาน เจดลิก (Ányos István Jedlik) บาทหลวงชาวฮังการีและนักฟิสิกส์ คือคนแรกที่ประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้าต้นแบบที่ชื่อ lightning-magnetic
self-rotors โดยมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง (direct current motor) ของเจดลิกประกอบด้วยตัวผลิตสนามแม่เหล็กซึ่งอยู่กับที่ (stator) ชิ้นส่วนหมุนเพื่อกระตุ้นแรงดึงดูดของแม่เหล็ก (rotor)

แต่มีข้อถกเถียงจากนักประวัติศาสตร์ว่ามอเตอร์ไฟฟ้าต้นแบบของเขาทำงานได้จริงหรือไม่ เพราะหลังจากนั้นเจดลิกมิได้ตีพิมพ์งานวิจัยใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้าอีกเลย

ดอกเตอร์อูลโก คอยสตรา (Ulco Kooystra) นักประวัติศาสตร์เคมีประจำมหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน (University of Groningen) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับ ซีแบรนดัส สเตรทิน (Sibrandus Startingh) ชาวดัตช์ผู้สร้างรถยนต์ไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ (กรดสังกะสี) ใช้ครั้งเดียว (zinc-acid batteries) ใน ค.ศ. ๑๘๓๙ ยืนยันว่าสเตรทินน่าจะเป็น “คนแรก” ที่สร้างรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าเจดลิก

เพราะเจดลิกมีเพียงบันทึกและปัจจุบันเราก็พบของตัวอย่างไม่กี่ชิ้นที่เหลืออยู่ ทั้งยังต้องคำนึงว่า เจดลิกกล่าวถึงงานของเขาในบันทึกเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีแล้ว

ดอกเตอร์อูลโกเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าของสเตรทินเกิดจากการคิดค้นมอเตอร์ไฟฟ้าที่ทำงานได้จริงของ โมริทซ์ ฟ็อน จาโคบี (Moritz von Jacobi, ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๗๔) วิศวกรและนักฟิสิกส์เชื้อสายยิว (อิสราเอล) ที่ทำงานให้จักรวรรดิรัสเซียผู้คิดค้นมอเตอร์ไฟฟ้าต้นแบบใน ค.ศ. ๑๘๓๔ 

คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ยังเป็นห้วงเวลาแห่งการกำเนิดทดลองรถยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาแบตเตอรี่ เมื่ออ่านประวัติศาสตร์จะพบการทดลองกระจายทั่วยุโรป

Image

กุสตาฟว์ ทรูเว (Gustave Trouvé)
ภาพ : https://www.upsbatterycenter.com/

Image

เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ถ่ายเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๙ 
ภาพ : Fred Hartsook

Image

โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ถ่ายเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๒ 
ภาพ : Louis Bachrach

“ต้องทำให้
ยอดผู้ใช้ EV 
โตไวกว่านี้”

กฤษฎา อุตตโมทย์
นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย

Image

ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

ในอนาคตรถยนต์สันดาปจะลดลงเพราะคนหันมาใช้รถ EV การมาของค่ายรถ EV หลายค่ายจะช่วยเร่งภาวะเปลี่ยนผ่านนี้ การที่ไทยไปแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ปารีส (COP21 ค.ศ. ๒๐๑๔) ว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน เป็นภาคบังคับส่วนหนึ่ง  แต่ลองคิดว่าต่อให้เราดึงดันผลิตรถยนต์สันดาป รถ EV จีนก็ทะลักเข้ามาอยู่ดี ตอนนี้ไม่ต่างจากช่วงที่ไอโฟนจอสัมผัสเข้ามาแทนที่มือถือปุ่มกด ถ้าส่งเสริมรถสันดาปต่อจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะอุตสาหกรรมใหม่จะไม่เกิด  กรณีค่ายรถยนต์จะมาลงทุนนั้น เขาจะมองเรื่องตลาดในไทยเป็นอันดับแรก การส่งออกจากไทยทำได้ดีหรือไม่เป็นอันดับ ๒  ตอนนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) บอกว่ามีบรรษัทรถยนต์ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ๑๔ โครงการ มูลค่ากว่า ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ แปลว่าเอกชนสนใจ แต่โครงสร้างของประเทศเราสนับสนุนตรงนี้ได้หรือไม่นี่คือคำถาม

Image

“เรามองว่าการมีดีลเลอร์ที่ไปแข่งตัดราคากันเองไม่ช่วยอะไร ลูกค้าคือแกนกลาง ถ้าบริการดีลูกค้าให้ห้าดาว ดีลเลอร์ก็อยู่ได้ ลูกค้าก็พอใจที่ราคามีมาตรฐาน มีเวลาดูแลลูกค้ามากขึ้น  ส่วนโชว์รูมของเราที่สยามสแควร์เรียกว่า Direct Store เป็นของ GWM และเรามีแบบนี้อีกแปดแห่ง  อีกส่วนคือโชว์รูมของพาร์ตเนอร์ที่มีศูนย์บริการบำรุงรักษารถ

“ผมไม่มองค่ายอื่นเป็นคู่แข่ง มองว่ามาช่วยกันสร้างตลาดรถยนต์ EV ทำให้คนไทยมีทางเลือกมากขึ้นที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาต่าง ๆ  ภาพจำของสินค้าจีนที่ไม่ดีหมดยุคไปแล้ว สมัยก่อนถ้ามองตลาดโทรศัพท์มือถือ จะเห็น Nokia, Sony แต่ตอนนี้ iPhone, Huawei ก็มาในกระแส ตลาดรถยนต์ EV ก็เช่นกัน ปีนี้ปีเดียวจนถึงกลางปีเราขายได้ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ คัน

Image

Image