Image
เปิดงานวิจัยปี ๒๕๔๙
ว่าด้วยสังคมพืช
ผู้รอดชีวิตจากสึนามิ
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
เห็นได้ชัดว่าสังคมพืชชายหาดเป็นตัวกรองทั้งแรงจากคลื่น และน้ำทะเลที่ล้นทะลักขึ้นมา
แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ ๙.๐ ริกเตอร์ ทำให้เกิดสึนามิพัดเข้าสู่ชายฝั่งภาคใต้ฝั่งอันดามัน

ในช่วงเดือนแรกหลังเกิดเหตุ รองศาสตราจารย์ ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐและรองศาสตราจารย์ ดร. พรศิลป์ ผลพันธิน สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ) ได้เข้าไปศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรชีวภาพตามแนวชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมพืชบริเวณชายหาดซึ่งได้รับผลกระทบจากสึนามิโดยตรง
อาจารย์กิติเชษฐ์เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดฝั่งธนบุรี ริมคลองบางกอกน้อย หลังเรียนจบด้านพฤกษศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาต่อปริญญาเอกด้านพฤกษศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา (University of Vienna) ประเทศออสเตรีย เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อร่วม ๒๐ ปีก่อนว่า 

“เราออกสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ทาง ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ พังงา เรื่อยขึ้นไปถึงระนอง พบว่าสังคมพืชดั้งเดิมบริเวณชายหาดถูกเปลี่ยนสภาพไปหมดตั้งแต่ก่อนเกิดสึนามิ  ชายหาดส่วนมากถูกบุกรุกจับจองเพื่อประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าการท่องเที่ยว ประมง หรือแม้แต่ค่ายทหาร  สังคมพืชพื้นเมืองดั้งเดิมถูกบุกรุกทำลายจนหมดสภาพ ยกเว้นอยู่เพียงบริเวณเดียวที่หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา” 

คณะวิจัยจึงใช้หาดท้ายเหมืองซึ่งประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ เป็นพื้นที่ศึกษา ติดตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมพืชต่อเนื่องเป็นระยะเวลา ๒-๓ ปี โดยเดินสำรวจตลอดแนวป่าชายหาด จดบันทึกและถ่ายภาพเพื่อให้ได้ข้อมูลสมบูรณ์มากที่สุดสำหรับอธิบายการฟื้นตัวตามธรรมชาติของสังคมพืช  


Image
ความเสียหายทางกายภาพเกิดจากแรงคลื่นกระทำโดยตรงกับต้นไม้ โดยเฉพาะพวกไม้ล้มลุก เช่น ผักบุ้งทะเล รักทะเล  ส่วนไม้ยืนต้นที่มีเนื้อไม้ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากบนสันทรายชายหาดแบ่งเขตเป็นสังคมทุ่งหญ้าชายฝั่ง (coastal grassland vegetation), สังคมไม้พุ่มชายฝั่ง (coastal scrub vegetation) และ สังคมป่าไม้ชายฝั่ง (coastal woodland vegetation) ซึ่งไล่ระดับความสูงจากผิวดินขึ้นไปตามลำดับ ทำให้สามารถต้านทานแรงกระทำจากลมในฤดูมรสุมและไอเค็มจากทะเล  เมื่อถูกคลื่นซัดจึงช่วยลดความรุนแรงเป็นชั้น ๆตามธรรมชาติ  เห็นได้ชัดว่าสังคมพืชชายหาดเป็นตัวกรองทั้งแรงจากคลื่น และน้ำทะเลที่ล้นทะลักขึ้นมา

ส่วนความเสียหายทางเคมีอาจก่อผลในระยะยาว  เกิดจากน้ำทะเลท่วมเข้ามาลึกในแผ่นดินบริเวณที่ไม่เคยมีการสะสมของเกลือ แล้วทำให้มีเกลือตกค้างอยู่ เป็นอันตรายต่อพืชที่ไม่ทนเค็ม ส่งผลโดยตรงต่อระบบราก การลำเลียงน้ำและแร่ธาตุ ทำให้เกิดอาการเช่น ใบเหลือง ร่วง และตาย ความเสียหายทางเคมีต้องใช้ระยะเวลาตรวจสอบซึ่งยังไม่อาจสรุปได้ในชั้นนี้  
Image