Image
ใต้สันดอนทรายเก็บน้ำไว้เต็มอิ่ม ทำให้มีไม้พุ่มและต้นไม้หลากหลายขนาดเติบโตขึ้นได้ แต่ต้นจะไม่สูงใหญ่
หาดท้ายเหมือง พังงา
ป่าสันทรายชายฝั่ง
ผืนสุดท้ายของคาบสมุทรไทย
EP.02
scoop
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ, ประเวช ตันตราภิรมย์
ป่าละเมาะ ชายฝั่ง
coastal heath forest เป็นสังคมพืชที่ขึ้นบนสันดอนทรายลึกเข้ามาในแผ่นดิน ได้รับไอทะเลน้อยกว่าบริเวณหน้าหาด มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยพืชปรับตัวให้เจริญเติบโตบนพื้นทรายที่มีธาตุอาหารต่ำ มักเข้าใจผิดเรียกว่าทุ่งหญ้าสะวันนาแต่ความจริงเป็นสังคมพืชคนละประเภท  

มีน้ำ
ในทราย 

รุ่งขึ้นเราตื่นกันแต่เช้าตรู่

เป็นไปตามคำแนะนำของอาจารย์กิติเชษฐ์ที่ให้เราพักในอุทยานแห่งชาติแทนที่จะเป็นโรงแรมข้างนอก

“อย่าลืมจองที่พักทางเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯ นอนที่อุทยานฯ ตอนเช้า ๆ ยังไม่ร้อนมาก จะพาเดินดูป่าด้านหลังมีหลายจุดน่าสนใจ แล้วตอนกลางวันจะได้ไปดูป่าพรุที่อยู่ลึกเข้าไปด้านใน” อาจารย์บอกเราตั้งแต่ก่อนเดินทางจากกรุงเทพฯ มาหาดท้ายเหมือง

จากบ้านพัก เราเดินผ่านอาคารที่ทำการอุทยานแห่งชาติหลังเก่า แล้วจึงเลี้ยวเข้าทางเดินในราวป่า ช่วงแรก ๆ สองข้างทางเป็นต้นไม้สูงใหญ่ให้ร่มเงา แต่สักพักก็เข้าสู่พื้นที่โล่งกว้าง แสงแดดสาดส่องลงมาเต็มที่ ทั่วบริเวณเป็นพื้นทรายขาวโพลน มีกอหญ้าขึ้นระบัดกระจัดกระจาย และมีต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อม ๆ
fern เฟิน
Image
Image
Image
Image
เฟินนาคราช [Davallia denticulata (Burm.f.) Mett. ex Kuhn] 
ตานซ่าน [Schizaea dichotoma (L.) Sm.] ขึ้นเป็นดงแน่นใต้ร่มเงาไม้
หัวว่าว [Phymatosorus scolopendria (Burm.f.) Pic.Serm.]
กระแตไต่ไม้ [Drynaria sparsisora (Desv.) Moore] ซึ่งมักพบขึ้นเกาะกิ่งไม้ในป่าอื่น แต่ที่นี่พบขึ้นบนพื้นทราย
สันดอนทรายประกอบด้วยธาตุซิลิกาเป็นหลัก มีธาตุอาหารสำหรับพืชน้อยมาก พืชที่เติบโตในพื้นที่ลักษณะนี้ต้องอาศัยความช่วยเหลืออย่างยิ่งยวดจากเชื้อราไมคอร์ไรซา
“ตรงนี้คือป่าละเมาะชายฝั่ง หรือ coastal heath forest เป็นสังคมพืชบนสันทรายชายฝั่งที่อยู่ลึกเข้ามาจากชายหาดด้านนอก ได้รับไอทะเลน้อยกว่าป่าชายหาดมาก สังคมพืชจึงแตกต่างกัน และต้นไม้ที่เห็นอยู่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่บนทรายที่ไม่มีแร่ธาตุอะไรเลย”

เป็นทรายสะอาดขาวของแร่ซิลิกาที่ลมพัดพาขึ้นมาสะสมเป็นเนินทรายกว้างใหญ่

“ตามธรรมชาติแล้วพืชต้องอาศัยแร่ธาตุสำคัญ ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม  ถามว่าในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงแบบนี้ ต้องเผชิญทั้งแดด ลม ไอทะเล บนพื้นยังมีแต่ทราย พืชจะเอาธาตุอาหารมาจากไหน  พืชใช้การหมุนเวียนธาตุอาหารภายในสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ด้วยกันและมีตัวช่วยสำคัญในการหมุนเวียนธาตุอาหารให้พวกพืชสามารถอยู่ได้ในดินที่แทบไม่มีธาตุอาหารเลย คือเชื้อราพวกไมคอร์ไรซา (micorrhiza) เติบโตจนกลายเป็นสังคมพืชป่าละเมาะชายฝั่ง  น่าเสียดายที่สภาพป่าดั้งเดิมแบบนี้ถูกละเลยและทำลายไปจนหมด เพราะไม่ได้อยู่ที่พื้นที่อนุรักษ์อย่างเขตอุทยานแห่งชาติ บางแห่งถึงกับติดประกาศว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม”
เข็ดตะขาบ Styphelia malayana
เมื่อได้ยินคำว่า “ป่าละเมาะ” คนทั่วไปมักคิดว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม อาจด้วยภาพจำว่าป่าละเมาะมีแต่ต้นไม้เล็ก ๆ
ลักษณะแคระแกร็นมากกว่าต้นไม้ใหญ่  ทั้งที่จริงป่าละเมาะช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้เช่นเดียวกับป่าประเภทอื่น หลายแห่งชาวบ้านยังใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นแหล่งอาหารและเลี้ยงสัตว์

แต่บนพื้นทรายขาวนี้ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จะหาน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตได้จากไหน

“พื้นที่ตรงนี้เรียกอีกอย่างว่าพื้นที่น้ำซับชายฝั่ง (coastal bog) ผมเรียกสั้น ๆ ว่าบ็อก (bog) เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ไม่อยู่
ในสารบบการเรียนการสอนเช่นกัน  มักมีหญ้าขึ้นบนพื้นทราย นักวิชาการไทยชอบเรียกว่าทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งไม่ใช่ ความจริงพื้นที่นี้เป็นที่ลุ่มของเนินทรายชายฝั่งที่เรียกว่า slack จะมีน้ำใสกิ๊กออกมาจากสันทรายซึ่งกักเก็บน้ำไว้ บางจุดน้ำจะซึมออกมาจนเกิดเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่”
Coastal bog
พื้นที่น้ำซับชายฝั่ง
Image
ระหว่างสันดอนทรายซึ่งเป็นที่ต่ำมากจะกลายเป็นแอ่งน้ำจืดท่วมขังในฤดูฝน บริเวณนี้มีต้นไม้เด่นคือเสม็ดขาว [Melaleuca quinquenervia (Cav.) S.T. Blake] ขึ้นเป็นดง
Image
ความชุ่มชื้นของสันดอนทรายทำให้ตามโคนต้นเสม็ดขาวมีมอสและลิเวอร์เวิร์ตขึ้นคลุมเป็นพรมสีเขียว
อาจารย์อธิบายให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่า เวลารดน้ำลงบนพื้นน้ำจะไหลผ่านไปจนหมด แต่ถ้าราดน้ำบนกองทราย ทรายจะเก็บน้ำไว้ตามช่องว่างระหว่างเม็ดทราย ดูนหรือสันทรายจึงไม่ต่างจากฟองน้ำ  พร้อมกับแสดงหลักฐานด้วยการใช้เท้าปาดบนหน้าพื้นทรายให้เราเห็นน้ำที่ซึมออกมาจากใต้พื้นทราย

“นี่เป็นคุณลักษณะการซับน้ำของสันทราย คุณจะเห็นว่าทรายข้างใต้มีความชื้น และยังมีสีเข้มที่เกิดจากการดูดซับน้ำไว้  เวลาฝนตก น้ำฝนจะถูกกักเก็บในสันทราย แทนที่จะไหลออกทะเลไปจนหมด ต้นไม้ถึงอยู่ได้ เพราะในเนื้อทรายมีแต่น้ำทั้งนั้น”
Image