ป่าชายหาด (beach forest) ตั้งอยู่ตรงรอยต่อของทะเลกับแผ่นดินเป็นแนวแรกที่ได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมและไอเกลือ สังคมพืชไล่ระดับความสูงจากหน้าหาดขึ้นมาถึงในแผ่นดิน ตั้งแต่ทุ่งหญ้าชายฝั่ง ไม้พุ่มชายหาด ป่าไม้ชายหาด ต่อเนื่องไปถึงสังคมพืชบนแนวสันทราย เช่น
ป่าละเมาะชายฝั่ง ทุ่งน้ำซับ ป่าพรุ
หาดท้ายเหมือง พังงา
ป่าสันทรายชายฝั่ง
ผืนสุดท้ายของคาบสมุทรไทย
EP.01
scoop
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ, ประเวช ตันตราภิรมย์
“ชายหาด”
ถ้าให้หลับตานึกภาพ คุณมองเห็นอะไร ?
หาดทราย เตียงผ้าใบ ร้านอาหาร บังกะโล เต็นท์ บ้านพัก หรือโรงแรมหรูสูงหลายสิบชั้นที่มองท้องฟ้ายามพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกได้กว้างไกลสุดสายตา
แต่ที่หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา กลับ “นำเสนอ” ภาพถ่ายทางอากาศของธรรมชาติชายหาดอันน่าตื่นตาตื่นใจ
แนว “รอยต่อของป่า” ต่างประเภท หรือ ecotone ปรากฏเป็นความหลากหลายของสีสันอันงดงามของพันธุ์ไม้แบ่งเขตเป็นชั้น ๆ คล้ายธงหลากสี ไล่จากส่วนที่อยู่ติดทะเลอันดามันเป็นป่าชายหาด ถัดเข้าไปในแผ่นดินเป็นป่าสันทรายชายฝั่ง ลึกเข้าไปเป็นป่าชายเลน หากมีสายตามองละเอียดยังแยกย่อยเป็นไม้พุ่ม ทุ่งหญ้า ทุ่งน้ำซับ ฯลฯ
ผู้รู้ด้านพฤกษศาสตร์บอกว่าป่าที่ตั้งอยู่บนเนินทรายชายฝั่งลักษณะเดียวกันนี้เคยปกคลุมทั่วไปตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ แต่ปัจจุบันที่ยังสมบูรณ์ที่สุดตามธรรมชาติ และถูกรบกวนน้อยจากกิจกรรมของมนุษย์ หลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น บนคาบสมุทรไทย การขยายตัวของชุมชน เมือง การท่องเที่ยว ทำให้ผืนป่าสูญหายไปอย่างไม่มีวันกลับ
ชื่อบ้านนามเมือง “ท้ายเหมือง”
ในอดีตพื้นที่บริเวณท้ายเหมืองยังไม่ค่อยมีผู้คนอาศัย จนเมื่อมีการขุดพบแหล่งแร่ดีบุกซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพหลั่งไหลเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพเป็นกุลี (กรรมกรใช้แรงงานในเหมืองแร่) การทำเหมืองแร่ในยุคนั้น มีทั้งการทำเหมืองรู เหมืองหาบ และเหมืองฉีด โดยการทำเหมืองฉีดจะต้องทำรางเหมืองสำหรับล้างแร่และแยกแร่ ชาวบ้านจึงมาร่อนแร่หาเลี้ยงชีพบริเวณท้ายรางเหมือง ทำให้ชุมชนเกิดการขยายตัว โดยตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่อยู่บริเวณท้ายรางเหมืองต่อมาเมื่อชุมชนใหญ่ขึ้น ราชการจึงตั้งเป็นตำบล เรียกว่าตำบลท้ายเหมือง
อ้างอิงเว็บไซต์ https://sites.google.com/site/thayhemuxng/home/chux-ban-nam-meuxng/ban-thayhemuxng
ผู้ให้ข้อมูล นายสุนทร แซ่ตัน ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
ความหลากหลายของสังคมพืชที่แบ่งเขตกันเป็นชั้้นๆ บน dune หรือเนินทราย ที่ดูเหมือนแล้งกันดาร แต่ความจริงเนินทรายมีคุณสมบัติดูดซับกักเก็บน้ำหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต
หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ขนาบด้วยทะเลอันดามันด้านทิศตะวันตกกับคลองน้ำกร่อยด้านทิศตะวันออก มีความยาวชายหาด ๑๓.๖ กิโลเมตร ส่วนแคบที่สุดเพียง ๓๕๐ เมตร
ปลายปี ๒๕๖๔ มีข่าวว่าประเทศไทยจะนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ในเขตอันดามันเป็น “มรดกโลก”
เอกสารนำเสนอบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (tentative list) ของการเป็นแหล่งมรดกโลกระบุว่า ที่นี่เป็นชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่งแหล่งสุดท้ายที่ยังคงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมอย่างสมบูรณ์ มีเอกลักษณ์ไม่มีที่ใดเสมอเหมือนภูมิประเทศเป็นชายหาดและสันทรายทอดยาวต่อเนื่องที่มีสังคมพืชชายฝั่ง
รองศาสตราจารย์ ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ นักพฤกษศาสตร์ผู้เขียนคุณลักษณะของป่าผืนนี้ในเอกสาร บอกกับเราว่าปัจจุบันเขตร้อนของโลกมีป่าสันทรายชายฝั่งเหลืออยู่ไม่มากนักป่าทุ่งน้ำซับนอกเขตอนุรักษ์ก็ถูกทำลายหมดแล้ว ถ้าที่นี่ถูกทำลายลงอีกก็จะหาดูที่ไหนไม่ได้
ทุกวันนี้การศึกษาเรื่องป่าสันทรายชายฝั่งยังอยู่นอกสารบบการเรียนการสอนป่าไม้ ทั้ง ๆ ที่ภูมิประเทศลักษณะนี้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมในคาบสมุทรไทย
เป็นเหตุผลให้เราเดินทางมาที่หาดท้ายเหมือง
สำรวจป่าสันทรายชายฝั่งดั้งเดิมที่ถูกรบกวนน้อยที่สุดบนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในหน้าฝน บางบริเวณเกิดน้ำท่วมเป็นป่าทุ่งน้ำซับ
ก่อเกิด
สันทราย
ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงมาเลเซียมีลักษณะภูมิประเทศเป็นคาบสมุทร ประกอบด้วยชายฝั่งทะเลทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก มีเทือกเขาพาดผ่านกลางเป็นกระดูกสันหลัง เป็นต้นธารสายน้ำที่พัดพาตะกอนจากแผ่นดินลงสู่ทะเล และด้วยอิทธิพลของคลื่นและลม จึงเกิดการพัดพาตะกอนทรายกลับมาสะสมตัวบนฝั่งเป็น “เนินทรายชายฝั่ง” (coastal sand dune)
หากเนินทรายชายฝั่งทอดตัวเป็นแนวขนานไปกับชายฝั่งก็เรียกว่า “สันทราย” (beach ridge)
หนังสือ หาดทราย คุณค่า...ชีวิตที่ถูกลืม อธิบายกระบวนการเกิดเนินทรายเป็นแนวยาวไว้ว่า เกิดจากลมพัดทรายไปในทิศทางเดียวกัน ความเร็วลมที่พอเหมาะอยู่ระหว่าง ๑๖-๓๒ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องพัดนานต่อเนื่องเป็นฤดูกาลอยู่หลายเดือน
เนินทรายชายฝั่งมีพัฒนาการยาวนานนับหมื่นปี จากการกัดเซาะเทือกเขาสูงตอนในทำให้เกิดตะกอนทับถมงอกเป็นแผ่นดินที่ปะทะกับแนวฝั่งทะเล พร้อมกับเกิดสังคมพืชที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นปกคลุมพื้นที่