Image

ห้องเรียนที่ไม่มีผนัง ไร้เพดาน และอนุญาตให้เด็กเล่นสนุกในธรรมชาติได้อย่างอิสระ

“พวกเราเข้าป่า”
ห้องเรียนอนุบาลที่ให้
ธรรมชาติช่วยสอน

SCOOP

เรื่องและภาพ : สิรามล ตันศิริ

เด็กปฐมวัยควรได้เรียนรู้อะไร... เล่นอิสระในธรรมชาติ หรืออ่านเขียนหนังสือเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ?

คำถามธรรมดาที่โรงเรียนและพ่อแม่ควรตอบให้ได้ว่า แท้จริงแล้วกิจกรรมใดเหมาะสมกับพัฒนาการอันเป็นพื้นฐานในวันวัยแรกของการมีอยู่ของเขาบนโลก

เด็กอนุบาลร่วม ๒๐ คนในชุดผ้ากันเปื้อนสีชมพูเข้ม วิ่งเล่นในสวนป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่สูงชะลูดรับแดด

ต้นกระบกขนาดสองคนโอบโดดเด่นณ มุมสวนป่า นก ผีเสื้อบินว่อนมองเพลินตา 

ที่นี่คือสนามเด็กเล่นสีเขียวแสนร่มรื่นและห้องเรียนกลางแจ้งของเด็กชั้นอนุบาล ๒ โรงเรียนบ้านปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ครูพิมพ์-พิมพ์บุญ วารินทร์ เจ้าของเพจ “พวกเราเข้าป่า” และครูประจำชั้นผู้พาลูกปูมาวิ่งเล่นนอกกระด้งชวนเด็ก ๆ มาเรียนรู้นอกห้องสี่เหลี่ยม ให้ธรรมชาติเป็นครูใหญ่ ให้สิ่งมีชีวิตและวัสดุในธรรมชาติเป็นสื่อจริงที่จับต้องได้ 

แนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน (nature-based learning) ภายใต้ปรัชญา friluftsliv ซึ่งมีที่มาจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียส่งกระแสให้เกิดการก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลในป่า (forest kindergarten) ขึ้นจำนวนมาก เพื่อให้เด็กเรียนรู้ผ่านการสัมผัสธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม ลงมือทำ ค้นหาคำตอบและสังเกตปรากฏการณ์รอบตัว

Image

หลังจากรดน้ำดอกไม้เสร็จ เด็ก ๆ จะมาเอกเขนกที่ต้นไม้ก่อนไประเบิดพลัง

๐๙.๐๐ น.
รดน้ำให้ดินชื้น วิ่งให้หัวเปียกและสำรวจเสียงเรียกของความสุข

“รดน้ำให้มันโต ๆ ไว ๆ” 

เสียงใสแจ๋วของเด็กชายซีเกมส์ดังขึ้นขณะรดน้ำให้ดอกดาวกระจาย กิจวัตรประจำวันแรกของเด็กห้องนี้หลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติ คือการไปหยิบบัวรดน้ำมาคนละใบ เติมน้ำแล้วเดินไปทำหน้าที่ชาวสวนตัวจิ๋วในแปลงดอกไม้ที่มีกล้าดอกทานตะวันและดอกดาว-กระจายเติบโตจากเมล็ดที่ร่วงโรย  

เด็ก ๆ รดน้ำกันอย่างตั้งใจ ทั้งเดินวนรดจนทั่วแปลง และบางครั้งก็แอบรดให้ทั่วตัวเองและเพื่อนด้วย  

หลังจากนั้นครูพิมพ์จะชวนเด็ก ๆ ระเบิดพลังในสวนป่า วิ่งออกกำลังกายคนละรอบสองรอบจนหัวเปียก แล้วพักให้หายเหนื่อยด้วยการเดินสำรวจสวนป่า ก่อนจะเข้าห้องเรียนตามเสียงสัญญาณเพื่อไปดื่มน้ำ ดื่มนม ฟังนิทานเล่น-เก็บของเล่น และกลับมาทำกิจกรรมในธรรมชาติอีกครั้ง  

“ครู ๆ นี่ ‘มอสส์’ ครูลองจับดู นุ่มมั้ย”

ครูพิมพ์ชวนเด็กติดเครื่องมือการเป็นนักสำรวจด้วยแว่นขยาย เพื่อสำรวจสิ่งมีชีวิตและสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติที่พวกเขาสนใจ  

เด็ก ๆ จับกิ้งกือยักษ์มาไว้บนฝ่ามือ จับกิ้งกือกระสุนพระอินทร์ที่ขดตัวมาให้เพื่อนดู ชี้ไปที่ผีเสื้อหลากชนิด นก
มด ผึ้ง ชันโรง แมงมุม ปลวก กิ่งไม้ที่ปลายม้วนขดเป็นวง และส่องดูไลเคนบนเปลือกไม้ 

สายตาที่มองเห็นความมหัศจรรย์ในความธรรมดาของเด็ก ทำให้ครูผู้ยืนอยู่ตรงนั้นพลอยตื่นเต้นกับการค้นพบของเขาและราวกับกระจก ยิ่งครู “อิน” กับสิ่งใด สิ่งนั้นจะถ่ายทอดไปสู่เด็กด้วย

เมื่อ ๕ ปีก่อน เด็ก ๆ ได้พาครูพิมพ์มาเดินที่สวนป่านี้ครั้งแรก และได้วิ่งเก็บคราบจักจั่นกันอย่างสนุกสนาน เป็นเวลา ๒ ชั่วโมงที่ไม่มีคำว่าเบื่อเลย 

คราบจักจั่นในวันนั้นชวนนึกถึงความทรงจำในวัยเด็กที่ครูเคยเก็บคราบจักจั่นกับแม่ เป็นความสุขที่ยังส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้  

“คิดว่าถ้าตอนเด็กโตขึ้นและเขายังรู้สึกอย่างที่เรารู้สึก ก็จะเป็นความทรงจำในวัยเด็กที่ดีมาก” 

ส่วนลูกศิษย์รุ่นแรกของครูพิมพ์ที่อยู่ ป. ๕ นั้นมีไม่น้อยเลยที่ประทับใจว่าครั้งหนึ่งได้เก็บคราบจักจั่นกับครูในสวนป่าเช่นกัน

Image

Image

สำรวจโลกใบจิ๋วของเพื่อนใหม่ในสวนป่าด้วยเลนส์แว่นขยาย

ชวนครูเปิดประตู
ขยายขอบการเรียนรู้
ให้กว้างกว่าห้องสี่เหลี่ยม

“อาจเป็นต้นไม้สักต้นในโรงเรียนแค่ได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน บรรยากาศก็เปลี่ยนแล้ว หรืออาจปลูกสวนเล็ก ๆ ในห้อง มีต้นไม้กระถางให้เด็กช่วยกันดูแลก็ได้” 

คำเชิญชวนจากครูพิมพ์ที่เชื่อว่าธรรมชาติจะช่วยเตรียมให้เด็กอนุบาลพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และมีความอยากรู้อยากเห็นที่เป็นเหมือนฟองน้ำคอยซึมซับสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกต้องในอนาคต

เหนือสิ่งอื่นใด กุญแจสำคัญที่ใช้ไขประตูบานนี้คือ ครูต้องรักธรรมชาติก่อน

เพราะประกายความรัก ความสงสัยใคร่รู้ของครู ส่งต่อถึงเด็ก ๆ ได้ 

Image