ไตรพัฒน์
ชุมชนแห่งการเพาะบ่มเมล็ดพันธุ์
ให้เติบใหญ่เป็นต้นไม้ในแบบตนเอง
SCOOP
เรื่องและภาพ : สิรามล ตันศิริ
“ปักดำกล้าข้าวใบเขียว
สองมือเกาะเกี่ยวปรารถนา
มือหนึ่งอุ้มติดกายา
มือหนึ่งกดกล้าลงดิน”
เสียงร้องเพลงเพื่อเตรียมลงแปลงนาเคล้าเสียงหัวเราะมาพร้อมกับจังหวะตบตัก ปรบมือ ดังขึ้นในห้องเรียนที่ผนังสีโทนแดงอ่อนเจือสีเหลืองแสนอบอุ่น
เสียงเพลงและจังหวะที่สอดแทรกไปกับการเรียนรู้คือหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนไตรพัฒน์ อำเภอลำลูกกาจังหวัดปทุมธานี มีสนามหญ้ากว้างราวกับจะบอกว่าที่นี่เป็นสนามทดลองที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ต่อเติมประสบการณ์ของตัวเอง
โรงเรียนไตรพัฒน์จัดการศึกษาในแนวการศึกษาวอลดอร์ฟ ตามหลักมนุษยปรัชญา มุ่งเน้นพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ทั้งทางด้านกาย ใจ จิตวิญญาณ พัฒนาขึ้นโดย รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาชาวออสเตรีย ที่เชื่อว่าการศึกษาต้องช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมี สามารถกำหนดความมุ่งหมายและแนวทางแก่ชีวิตได้อย่างอิสระตามกำลังความสามารถของตน
“เพราะเชื่อว่ามนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรกล หรือมีแค่ร่างกายเท่านั้น”
ที่นี่จึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ “ความดี ความงาม ความจริง” บนโลกใบนี้และตั้งอยู่บนพัฒนาการของเด็กตามสภาวะสำนึกที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย คือ ช่วงวัยแรกเกิด-๗ ปี ที่เด็ก ๆ จะมีความมุ่งมั่น (willing) ในการเรียนรู้ ขยับไปเป็นการใช้ความรู้สึก (feeling) ในช่วงวัย ๗-๑๔ ปี และก้าวต่อไปยังการใช้ความคิด (thinking) ในช่วงวัย ๑๔-๒๑ ปี เพื่อให้ทุกเมล็ดพันธุ์เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งส่วนราก ลำต้น ใบ และเลือกได้ว่าจะเติบใหญ่เป็นต้นไม้ในแบบตนเองอย่างไร
“ราก” : ความมั่นใจในตนเอง เกิดจากการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ
“เด็กเล็กมีพลังเยอะมาก ต้องการเคลื่อนไหวและลงมือทำตลอดเวลา” ครูจาว-วัชราวรรณ เพชรบูล แม่ครูของห้องอนุบาลเล่าให้ฟังถึงเหตุผลเบื้องหลังของการจัดกิจกรรมให้เด็กเล่นอย่างอิสระ ด้วยของเล่นตามธรรมชาติที่ไม่จำกัดรูปแบบการเล่น เด็ก ๆ สามารถใช้จินตนาการเชื่อมโยง ลงมือทำตามที่เขาตัดสินใจเอง ครูจะไม่บังคับ ไม่ชี้นำ ให้เด็ก ๆ เรียนรู้ผ่านการเล่นไปด้วยกัน เพียงมีข้อตกลงว่าจะไม่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ เพื่อนบาดเจ็บ และของไม่เสียหาย
“เด็กในวัยนี้เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบและทำซ้ำ”
ในแต่ละวันจึงมีกิจกรรมหลักที่ลำดับกิจวัตรเหมือนเดิม มีกิจกรรมประจำทุกสัปดาห์ ไล่เรียงไปตั้งแต่ระบายสี ทำขนมปัง ทำหัตถกรรม ปั้นขี้ผึ้ง และทำความสะอาดของเล่นตามลำดับ สาเหตุที่ต้องเป็นแบบแผน มีจังหวะ (rhythm) ที่ชัดเจน ครูจาวบอกว่า “ช่วยให้เด็กรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ชีวิตต้องดำเนินไปอย่างไร เป็นการสร้างความมั่นคงในจิตใจ การเรียนรู้ผ่านการลงมือ เป็นรากของความภาคภูมิใจและมั่นใจในตนเอง”
ครูจาวเชื่อว่าเด็กทุกคนมีจินตนาการ และสามารถสนับสนุนให้จินตนาการของเขาไปได้ไกลขึ้นด้วยการเล่านิทานให้ฟัง ไม่ต้องเล่าให้ตื่นเต้น ไม่เน้นความบันเทิง แต่ครูต้องเข้าใจความหมายและจดจำนิทานได้ แล้วเล่าตามภาพในใจของครู เพื่อให้เด็ก ๆ ฝึกการสร้างภาพในใจไปพร้อมกัน เด็กจะค่อย ๆ ต่อจิ๊กซอว์เป็นภาพด้วยตนเอง ดังนั้นในวัยนี้ครูจะงดการใช้สื่อจากโทรศัพท์หรือภาพยนตร์ ที่อาจชี้นำและจำกัดกรอบจินตนาการอันไม่มีที่สิ้นสุดของเด็ก ๆ