Image
“ยิ่งเรากระจาย
อำนาจได้มากเท่าไร 
การศึกษาไทย
จะยิ่งก้าวหน้าขึ้นเท่านั้น”
รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี
Interview
สัมภาณ์ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ 
ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สองทศวรรษที่ผ่านมา ดูเหมือนคำว่า “ปฏิรูป” จะอยู่เคียงคู่กับคำว่า “ระบบการศึกษาไทย” ราวกับเป็นฉันทามติว่าหลักสูตรการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การปฏิรูปก็ กิ นเวลายาวนาน จนมีคำกล่าวเชิงประชดประชันถึง “อุตสาหกรรมการปฏิรูปการศึกษา” ที่วนเวียนกลายเป็นแหล่งทำมาหาก ิ นของบุคลากรในวงการ และเป้าหมายก็ย้อนแย้งกับรัฐรวมศูนย์อำนาจที่ต้องการว่านักเรียนทั้งประเทศต้องเรียนอะไร
ระหว่างนั้นยอดภูเขาน้ำแข็งก็โผล่พ้นน้ำมาเรื่อยๆ เต็มโซเชียลมีเดีย การกลั่นแกล้งในโรงเรียน ครูทำร้ายเด็ก ผู้ปกครองแจ้งความครู ปัญหาทรงผม เครื่องแบบ ฯลฯ

ตลอดปี ๒๕๖๓ ยังเก ิ ดความเคลื่อนไหวของนักเรียนระดับมัธยมฯ ที่ใช้ “โบสีขาว” เป็นสัญลักษณ์ หยิบยกปัญหามาปราศรัยบนเวทีการประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า 

ท่ามกลางกระแสข่าวต่างๆ เรื่องหนึ่งที่ดูจะเป็นความหวังคือ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ซึ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพนักเรียนเป็นรายบุคคลแทน ทั้งการจัดการตนเอง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง การเป็นพลเมือง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน ละทิ้งการวัดคนด้วยการท่องจำเนื้อหาและคะแนนสอบที่ใช้มานาน

ทว่าหลักสูตรใหม่ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มใช้ทั่วประเทศในปี ๒๕๖๕ กลับถูกชะลอไปแบบไร้กำหนด โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าให้ใช้
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐) ต่อไป เพราะการใช้หลักสูตรใหม่นั้นจะ “เพิ่มภาระของครู ผู้ปกครองนักเรียนที่ต้องซื้อตำราใหม่” โดยให้เพิ่มการเรียนรู้แบบ active learning เสริมเข้าไปแทน (ไทยรัฐ ออนไลน์, ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕)

สารคดี สนทนากับ รองศาสตราจารย์ ดร. อนุชาติ พวงสำลี หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทดลองแนวคิดใหม่เรื่องการจัดการการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ถึงมุมมองต่อ “การปฏิรูป” ระบบการศึกษาที่ควรจะเป็นในประเทศนี้
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑
ใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ แบ่งวิชาเป็นแปดกลุ่มสาระ คือ ภาษาไทย, วิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ, การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ เน้นภาคทฤษฎีแทบจะไม่มีภาคปฏิบัติ เน้นการท่องจำและวัดผลด้วยคะแนนสอบ  ในปี ๒๕๕๖ ลดเหลือหกกลุ่มสาระ  ในปี ๒๕๖๐ เริ่มปรับเป็นหลักสูตรโดยเรียกเป็นฐานสมรรถนะ ๑๐ ด้าน ก่อนจะลดเหลือ ๖ ด้านในปี ๒๕๖๒ 
การชะลอการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ทั้งที่ทดลองใช้ไปแล้วในบางพื้นที่นำร่อง จะส่งผลอย่างไรกับการศึกษาของประเทศ
ความพยายามจะปรับหลักสูตรมาใช้ “ฐานสมรรถนะ” แก่นคือเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองการจัดการศึกษา แทนที่จะเอาวิชาเรียนเป็นตัวตั้ง ก็มองว่าเด็กคนหนึ่งจะได้รับการพัฒนาให้เกิดความสามารถอย่างไร มากกว่าเรื่องวิชาการคือทักษะที่ทำได้จริง  การปรับเปลี่ยนมุมมองนี้ย่อมทำให้เกิดแรงต้านจากคนที่ไม่เข้าใจ มองว่าจะทำให้เนื้อหาการเรียนลดลง เกิดอาการ “ห่วง” กลัวว่าเด็กจะไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ครบ ไม่ได้เรียนวิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม ห่วงว่าความรู้จะบกพร่อง แต่พวกเขาลืมทำความเข้าใจว่า “ฐานสมรรถนะ” คือการสร้างความสามารถในการเรียนรู้ (how to learn)

ความรู้มีทั้งในตำรา โลกออนไลน์ ในสถานที่ที่ผู้เรียนไปขวนขวายหามาได้  สิ่งที่ครูต้องทำคือให้เครื่องมือผู้เรียน ทำให้นักเรียนเกิดความตั้งใจที่จะเรียน ถ้านักเรียนสนใจ ไม่ว่าความรู้จะอยู่ที่ไหน เขาย่อมจะตามหามาได้ นี่คือฐานคิดที่ต่างจากเดิม
หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum)
สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เริ่มร่างตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ และเป็นนโยบายเร่งด่วนในปี ๒๕๖๔ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันมีการประกาศใช้ในระดับประถมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนนำร่องแปดจังหวัด หลักสูตรนี้เน้นพัฒนาสมรรถนะหกด้าน คือ จัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ, คิดขั้นสูงและการเรียนรู้, สื่อสารด้วยภาษา, การจัดการและทำงานเป็นทีม, พลเมืองเข้มแข็ง และอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน  ตามกำหนดเดิม ปี ๒๕๖๕ จะเริ่มใช้ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีความพร้อม  ปี ๒๕๖๖ ใช้ในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีความพร้อม และปี ๒๕๖๗ จะใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศ 
Image
วิธีคิดอนุรักษนิยมที่ยังคงมีอิทธิพล จะกลายเป็นจุดตายในการปฏิรูปการศึกษาหรือไม่
ต้องมี “จุดเริ่ม” ต้องลงมือ ต้องมีความหวัง ที่ผ่านมาผมทำ “โครงการก่อการครู” เพราะเชื่อว่ากุญแจดอกสำคัญคือครูในระบบโรงเรียน มีครูจำนวนมากที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ถูกทับถมด้วยการสั่งงานแบบราชการ มีภาระงานและงานเอกสารเต็มไปหมด ทำให้ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถเพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ดีซึ่งจะนำไปสู่การประเมินผลที่ดี
Image