Image
บรรยากาศการประชุมรวมของนักเรียนชั้นมัธยมฯ ต้น ที่โถงอาคารแห่งหนึ่งในโรงเรียน ช่วงพักกลางวัน
สาธิต มธ. “คิดใหม่”
ในสังคม (ไทย) อนุรักษนิยม
SCOOP
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“ทำไมเราต้องตั้งคำถาม”
ในห้องเรียนวิชา “มนุษย์กับสังคม” ตัวอักษรกลางกระดานไวต์บอร์ดโดดเด่นจนชวนฉงนว่า ในโรงเรียนไทยมีสอนให้ตั้งคำถามลักษณะนี้ด้วยหรือ

นักเรียนที่เราเห็นก็ไม่ได้แต่งชุดนักเรียน กลับแต่งกายด้วยชุดสุภาพ
บางคนก็ย้อมสีผม บางคนยังดูตื่นเต้น เพราะพวกเขาเพิ่งมาโรงเรียนวันแรก

บนโต๊ะเรียนแต่ละตัวมีป้ายอมยิ้มสีแดง (สัญลักษณ์ไม่เห็นด้วย) กับ
สีเขียว (สัญลักษณ์เห็นด้วย) วางอยู่ ให้เลือกยกขึ้นมาแสดงจุดยืน

คาบเรียนแรกดำเนินไป ช่วงหนึ่งมีคำถามบนกระดานหกข้อ หนึ่งในคำถามคือ “ทำไมไทยถึงมีอากาศร้อน” ครูประจำวิชาสองคนพยายามสร้างบรรยากาศการเรียนด้วยการถาม-ตอบกันเอง แซวกันบ้าง บางทีก็โยนคำถามให้เด็กๆ ลองตอบ ก่อนจะยกตัวอย่างว่าเวลาเราไปเที่ยวอเมริกาทำไมไม่ร้อน 
เมื่อนักเรียนคนหนึ่งตอบได้อย่างถูกต้องว่าเพราะไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เพื่อนหลายคนชูป้ายสีเขียวสนับสนุน

บทเรียนเดินหน้าต่อไปด้วยคำถามว่า “ทำไมชอบตัดสินผู้อื่นทั้งที่ยัง
ไม่รู้จักกัน” ครูคนหนึ่งเล่าถึงงาน Bangkok Pride ที่รณรงค์สิทธิ LGBTQ+

“เขาเป็นโรคครับ ต่างจากมนุษย์ธรรมดา” เด็กคนหนึ่งตอบ


ถ้าเป็นในโซเชียลมีเดีย นี่อาจเกิดเป็น “ดรามา” แต่ในห้องเรียน คุณครู 
ก็อธิบายความต่างนี้และแลกเปลี่ยนกับนักเรียนคนดังกล่าว

หลังคาบเรียน เราได้คุยกับคุณครูประจำวิชา “นี่เป็นคาบที่ไม่ลงเนื้อหามากนัก เราพยายามให้เด็กๆ กล้าแสดงออก” ครูประจำวิชาหนึ่งในสองคนเล่าพร้อมอธิบายเพิ่มว่าทัศนคติบางอย่างก็ต้องค่อยๆ ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง หากมีนักเรียนไม่สนใจฟังหรือเล่นแท็บเลต ครูทั้งสองบอกเราว่านั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะกระบวนการปรับตัวนี้จะดำเนินต่อราว ๑ เดือน และในที่สุดนักเรียนจะค้นพบวิธีการเรียนในแบบของตนเอง


เรื่องเหลือเชื่อคือ “โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
(Thammasat Secondary School : TSS หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “สาธิต มธ.”) ที่พยายามสอนให้เด็กตั้งคำถามและทำให้พวกเขาตระหนักถึงความหลากหลาย เคยถูกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (อดีตหัวหน้า คสช.) สั่งจับตาระบุว่า “อาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบันฯ” (มติชนออนไลน์, ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕) ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาฉกาจฉกรรจ์

ทว่า...นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สาธิต มธ. ตกเป็นข่าว


ปี ๒๕๖๐ โรงเรียนแห่งนี้มีสื่อนำเสนอข่าวมาแล้วตั้งแต่เปิดสอนในเทอมแรก จากการอนุญาตให้นักเรียนไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ให้ไว้ทรงผมได้ตามใจปรารถนา ไม่นับว่ารูปแบบการเรียนการสอนยังแปลกใหม่ ไม่มีตัดเกรด ไม่มีให้คะแนน ไม่ได้มุ่งให้นักเรียนไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ แต่กลับมุ่งให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) ของเด็กๆ ที่แตกต่างหลากหลาย


ด้วยมาตรฐานแบบไทยๆ  ภาพสาธิต มธ. ที่ปรากฏผ่านสื่อจึง “ขบถ” และ “แหวกกรอบ” อยู่ทุกอณู


แต่การ “แหวกกรอบ” นั้นกลับมีที่มา ด้วยหากค้นลึกลงไปถึงหลักสูตรก็จะ
พบว่าโรงเรียนแห่งนี้คือห้องทดลอง “ปฏิรูปการศึกษา” ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง

ด้วยฝีมือคนไทยที่เห็นปัญหาของระบบการศึกษาที่เรื้อรังมาหลายทศวรรษ
Image
Image
กำเนิดจาก 
“บทเรียน”

รองศาสตราจารย์ ดร. อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า “สาธิต มธ.” เกิดจากความต้องการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่จะมีโรงเรียนสาธิตเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

ย้อนกลับไปในปี ๒๕๕๘ หลังประสบความสำเร็จในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มีสิ่งแวดล้อมดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ อาจารย์อนุชาติขณะดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้รับคำขอจากผู้บริหาร มธ. ที่มีโครงการตั้งคณะศึกษาศาสตร์ให้มาช่วยเป็นประธานคณะทำงาน

ในฐานะศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์และอยู่ในแวดวงการศึกษามานาน อาจารย์อนุชาติจึงมองเห็น “จุดอ่อน” ของระบบการศึกษาไทยรวมไปถึงจุดตายของการตั้งคณะศึกษาศาสตร์

“คำถามคือจะต่างอะไรจากคณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นที่ผลิตบัณฑิตออกมาปีละ ๔ หมื่นคน แต่ไปทำงานเป็นครูไม่ถึงครึ่ง เราไม่อยากซ้ำรอยเดิม” อาจารย์อนุชาติอธิบายถึงแนวคิดที่หวังสร้างความเปลี่ยนแปลง “ผมพบคำว่า learning science ที่พูดถึงกระบวนการตั้งคำถามว่ามนุษย์คนหนึ่งเติบโต เรียนรู้ มีพัฒนาการอย่างไร มันกว้างไปกว่าเรื่องของหลักสูตรผลิตครู”

เมื่อผู้บริหาร มธ. รับข้อเสนอแนวคิดใหม่ จึงมีการวางหลักสูตรและจัดตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เปิดรับนักศึกษาครั้งแรกในปี ๒๕๕๙ (หลักสูตรนี้นักศึกษาจะลงพื้นที่ศึกษาเพื่อเข้าใจปัญหาเรื่องการศึกษา ก่อนจะกลับมาเรียนทฤษฎีในห้องเรียน)

เพียงปีเดียวหลังจากนั้น สาธิต มธ. ตั้งขึ้น วางหลักสูตรเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ โดยเริ่มเปิดสอนนักเรียนรุ่นที่ ๑ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๐ อาจารย์อนุชาติบอกผู้บริหารในตอนนั้นว่า “ถ้าจะทำโรงเรียน เราจะทำตามแบบของเรา” โดยมีหลักการคือ “แหวกจากขนบเก่า” อันเป็นปัญหาไปสู่เป้าหมายที่การเรียนรู้ต้อง “พัฒนาคน” อย่างแท้จริง
มีการสำรวจหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ หลักสูตรวิทยาศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และอื่น ๆ จนพบว่า “โรงเรียนหนึ่งแห่งไม่ใช่แค่มีหลักสูตร แต่มีอย่างอื่นมากมาย เราใช้คำว่า ‘ระบบนิเวศ’ ทั้งหมดคือหลักคิด ไม่ใช่เปลี่ยนหลักสูตรแต่อย่างอื่นไม่เปลี่ยน”

ปัญหาที่พบต่อมาคือ เขาพบว่าระบบการศึกษาไทย หากเปรียบเป็นรถยนต์ นอตทุกตัวและข้อต่อต่าง ๆ “หลวม” และส่วนมาก “หลุด” เกือบหมด ผลคือโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย มีลักษณะคิดแบบรัฐรวมศูนย์ จ้องจับผิดว่านักเรียนจะทำผิดกฎตลอดเวลา จึงสร้างกฎระเบียบจำนวนมากเพื่อควบคุม สภาพแวดล้อมนี้ยังส่งผลถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับครู ครูกับผู้บริหารโรงเรียนเช่นกัน

ผลคือครูทำร้ายเด็ก ผู้ปกครองเล่นงานครู ครูมีปัญหากับครูกันเองและผู้บริหาร ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของปัญหาในระบบการศึกษาไทย ไม่นับว่าครูต้องทำงานเอกสารจำนวนมากจนไม่มีเวลาเตรียมการสอนจนทำให้คนมีความสามารถหลุดจากระบบ เพราะทนสภาพการทำงานไม่ได้
Image
Image