เรื่อง : บุษกร รุ่งสว่าง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“เด็ก ๆ อย่าเดินออกนอกเส้ นทาง
ไม่อย่างนั้นครูไม่พามาแล้วนะ”
เมื่อได้ยินดังนั้น บอยแบนด์ประจำห้อง ป. ๓ ก็วิ่งกรูกลับเข้ากลุ่มเพื่อนร่วมชั้นด้วยสีหน้าเบิกบานและพลังงานอันเหลือล้น พร้อมจะค้นหาวัสดุในชุมชนเพื่อทำ “ของเล่นพื้นบ้าน” หน่วยการเรียนรู้ของเทอมการศึกษาแรกที่โรงเรียนบ้านนาขนวน จังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ
บทที่ ๑ /
สองทศวรรษ
แห่งการเดินทาง
จากสถานี “อิงมาตรฐาน”
สู่ “ฐานสมรรถนะ”
“มีคำกล่าวทีเดียวว่า พลังอำนาจสูงสุดคือความรู้ knowledge is power มาวันนี้ไม่จริงแล้ว เพราะความรู้เปลี่ยนตลอดและสามารถหาได้ง่ายดายมาก...”
ดอกเตอร์วัฒนาพร ระงับทุกข์ กรรมการอำนวยการพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช.... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) หนึ่งกำลังสำคัญในงานปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ จนปัจจุบัน เกริ่นนำคำตอบของคำถาม ทำไมเราต้องเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ? และฉายภาพการเดินทางของหลักสูตรการศึกษาไว้ว่า
“แต่ละหลักสูตรมีเวลาของมัน ทำขึ้นมาเพื่อสนองความจำเป็นของช่วงเวลานั้นว่า เราต้องการให้คนมีลักษณะอย่างไรจึงจะอยู่รอดปลอดภัยบนโลกใบนี้ได้ ส่วนใหญ่วงล้อของหลักสูตรอยู่ประมาณ ๖-๑๐ ปี ช่วงเวลาที่เราพัฒนานักเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาภาคบังคับอยู่ที่ ๙-๑๒ ปี เป็นวงรอบหนึ่งของหลักสูตรพอดี
“ในแวดวงการศึกษาเริ่มปรับเปลี่ยนและชี้นำทิศทางฐานสมรรถนะ (competency) กันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๐ ตอนนั้น มีทีม Partnership for 21st Century Learning หรือ P21 คิดทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ขึ้นมา โอ้ มันช่างน่าตื่นเต้นเพราะเขาเน้นทักษะที่เป็น soft skills เป็นทักษะติดตัว OECD องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็ให้ความสำคัญกับตรงนี้และนำข้อมูลออกมาเผยแพร่ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างผู้เรียนให้มีทักษะตามกรอบนี้ คำว่า ‘ฐานสมรรถนะ’ จึงเกิดขึ้น”
เหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด-๑๙ เป็นเสมือนตัวเร่งให้การสอนแบบ “ท่องจำ” ถึงกาลสาบสูญ ยิ่งโลกเรามีแต่เรื่องราวไม่คาดฝัน เหนือการคาดเดาของพยากรณ์ศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้นทุกวันเวลา สิ่งสำคัญล้ำค่าหาใช่วิชาความรู้อีกต่อไป เนื่องด้วยเป็นสิ่งซึ่งเข้าถึงได้อย่างไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ทว่าหัวใจสำคัญคือความสามารถในการจัดการความรู้
“ช่วงเริ่มทำหลักสูตรต้องเคลียร์กันนานมากเลยนะ ประการแรกกว่าจะตกลงกันได้ว่ามีกี่สมรรถนะก็ค่อนข้างนาน สอง พอใช้สมรรถนะเป็นเป้าหมาย ต้องลดความสำคัญรายวิชา ตรงนี้ก็ใช้เวลา ประสบการณ์จากที่ทำหลักสูตร เมื่อไรก็ตามที่เราเอาผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าของวิชามานี่ โอ้ มันยากมาก เขาจะสู้สุดฤทธิ์ว่าจะต้องให้ความสำคัญ ให้เวลา ให้เนื้อหาของเขาเยอะ ๆ
“คำว่า ‘บูรณาการ’ ในบ้านเราเลยเกิดยาก ถ้าบูรณาการจริง ๆ ตัวของเดิมต้องเปลี่ยนรูป แต่บูรณาการบ้านเราของเดิมไม่มีเปลี่ยน
“ปัญหาอีกประการหนึ่งคือมีหลายหน่วยงานเกินไป โครงสร้างหนาเทอะทะขึ้นทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลง ยิ่งเปลี่ยนยิ่งเพิ่มหน่วยงาน เพิ่มตำแหน่งงาน เพิ่มคน ต้องจัดการเรื่องนี้โดยเอาเด็กเป็นตัวตั้งแล้วค่อย ๆ คิดว่าคนที่จะช่วยเด็กคือใคร ค่อย ๆ ไล่ออกมา จะลดทอนหน่วยงานที่มากำกับออกไปเยอะมาก แล้วมาดูว่าคนที่มีอยู่ทุกวันนี้จะไปอยู่ตรงไหน พอจัดการตรงนั้นได้ เราค่อยมาเน้นเรื่องประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน
“ถ้าไปดูทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดคือคน”
ดอกเตอร์วัฒนาพรเปรยพลางส่ายหน้าเบา ๆ เรารับรู้ถึงความเหนื่อยหน่ายในตาเธอผ่านจอสีฟ้า
ความท้าทายจึงอยู่ที่การปรับตัวของคนในระบบการศึกษา ว่าจะหยุดเข็มนาฬิกาหรือพร้อมก้าวไปข้างหน้าเช่นครั้งตัดสินใจ ก่อการปฏิรูปการศึกษาเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน
หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) ให้ความสำคัญกับความสามารถที่ผู้เรียนพึงปฏิบัติได้ ประกอบด้วยสมรรถนะการจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และวิทยาการอย่างยั่งยืน
“ทำเวร” เด็ก ๆ โรงเรียนบ้านนาขนวน กระจายตัวดูแลความสะอาดเรียบร้อยรอบโรงเรียน ก่อนรวมตัวเข้าแถวเคารพธงชาติในเวลา ๘ โมงตรง
บทที่ ๒/
ห้องเรียนไร้เพดาน
ณ โรงเรียนบ้านนาขนวน
เราเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ “ศรีสะเกษ” เมืองอีสานใต้ อดีตจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ ทว่าเป็นจุดกำเนิดของโรงเรียนแรกในสังกัด สพฐ. ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบการศึกษาชั้นปฐมวัยอันควรค่าแก่การลอกงานมากที่สุด
- วันแรก -
เวลา ๐๗.๔๕ น.
นักเรียนชั้นประถมฯ ตัวเล็กกลุ่มใหญ่วิ่งเล่นไล่จับในสนามฟุตบอลสีเขียว
กลุ่มเด็กที่ดูโตขึ้นมาหน่อยพากันกวาดเก็บใบสักแห้งที่ร่วงหล่นอยู่ข้างสนาม
กลุ่มเด็กน้อยวัยอนุบาลยังผุดลุกผุดนั่งสนุกสนานกันใต้อาคารเรียน
ครูอยู่ไหน ? เรามาถูกที่แล้วใช่ไหม ? ขณะลังเล
เราหันมองช่างภาพที่มาด้วยกัน สลับมองความเริงร่าของเด็กน้อยอีกครั้ง แล้วตอบอย่างมั่นใจ
ใช่ ! โรงเรียน (แบบ) นี้แหละถูกต้องแล้ว !
เวลา ๐๘.๐๐ น.
ไม่มีเสียงกริ่ง ออด หรือประกาศบอกเวลา
เด็กทุกคนทยอยเดินมาเข้าแถวรวมตัวกันใต้เงาร่มไม้
และครูในโรงเรียนก็เริ่มปรากฏกายขึ้น
. . .
สิบสามปีที่แล้ว โรงเรียนบ้านนาขนวนเปลี่ยนแปลงตัวเองในเชิงระบบจากรูปแบบการเรียนการสอนปรกติสู่การเรียนการสอนแบบบูรณาการ ผ่านนวัตกรรมการสอนหลากหลาย เช่น
เริ่มด้วย Problem Based Learning (PBL) - การเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
โรงเรียนตั้งปัญหามากระตุ้นการฝึกคิดของเด็ก ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันหรือเหตุการณ์จริงที่วันหนึ่งอาจต้องเจอ เช่น หากคนในครอบครัวทะเลาะกัน เรารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร แล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขกว่าตอนนี้ได้อย่างไร จะก้าวข้ามออกจากตรงนี้ด้วยวิธีคิดแบบไหน
“ม้าก้านกล้วย” ของเล่นพื้นบ้านยอดนิยมที่ชาวแก๊งชั้น ป. ๓ เลือกทำ ต้นกล้วยเป็นวัสดุที่หาง่ายและแบ่งชิ้นส่วนทำของเล่นได้หลายอย่าง
ต่อมาปรับเป็น Project Based Learning (PBL) - การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน
โรงเรียนฝึกวิธีคิดและพาเด็กเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานที่เน้นการปฏิบัติจริง เช่น การลงแปลงปลูกข้าว การทำผ้ามัดย้อม การจัดการขยะในชุมชน ฯลฯ
ตามด้วย Phenomenal Based Learning (PhBL) - การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน
โรงเรียนพาเด็กวิเคราะห์สถานการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้น อย่างน้ำท่วม ไฟป่า เพื่อฝึกการเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น เมื่อครั้งน้ำท่วมอุบลราชธานีครั้งใหญ่ ครูจัดกระบวนการแล้วตั้งโจทย์ว่าจะช่วยเหลือจังหวัดเพื่อนบ้านได้อย่างไรบ้าง เด็ก ๆ ก็พากันคิดแล้วทำโครงการรับบริจาคขยะเพื่อนำเงิน รายได้ไปบริจาค สถานการณ์รอบตัวที่เลือกมานั้นต้องมีความสำคัญมากพอที่เด็กจะรู้สึกตระหนักถึงประโยชน์และรู้สึกมีส่วนร่วมในการช่วยสังคม
ข่าวการเร่งงานเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจาก “หลักสูตรอิงมาตรฐาน” สู่ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” จึงถือเป็นความน่ายินดียิ่งสำหรับโรงเรียนแห่งนี้
“สำหรับโรงเรียนทั่วไปที่ยังสอนวิธีเดิม ๆ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่พอสมควร เพราะนอกจากจะเปลี่ยนแปลงเรื่องเอกสารแล้ว ตัวผู้สอน กิจกรรม ต้องเปลี่ยนหมด ถือเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักเหมือนกัน แต่ว่าที่นี่โรงเรียนเน้นการสอนเชิงสมรรถนะอยู่แล้ว พอเปลี่ยนหลักสูตรเข้ามาก็ถือว่าตอบโจทย์งานที่โรงเรียนทำ สำหรับคุณครูที่นี่ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระสักเท่าไร”
ธีรดา อุดมทรัพย์ หรือ “ครูหยก” ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนบ้านนาขนวน บอกกับเราก่อนเข้าประเด็นปัญหาที่พบเจอเมื่อเธอได้ทดลองสอนตามแนวทางฐานสมรรถนะและต้องทำแบบประเมินผลส่งสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา