Image
จานรับสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ตัวแรกของประเทศไทย มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๐ เมตร ตั้งอยู่ที่ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 
NARIT
ตามรอย
สถาบันดาราศาสตร์ไทย
ภารกิจพินิจฟากฟ้าข
องมวลมนุษย์
 SpaceMission
[ คนไทยไปอวกาศ ]

เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์, ณภัทร เวชชศาสตร์
ภาพ : ณภัทร เวชชศาสตร์
National Astronomical Research Institute of Thailand (NARIT)
‘‘อวกาศ พรมแดนด่านสุดท้าย นี่คือการเดินทางของยานอวกาศ เอนเทอร์ไพรส์ ภารกิจของยานคือ การสำรวจโลกใหม่ ค้นหารูปแบบชีวิตใหม่ และอารยธรรมใหม่ ท่องไปอย่างกล้าหาญ สู่ที่ซึ่งไม่มีใครไปมาก่อน’’
คำกล่าวข้างต้นคือสโลแกนของ สตาร์เทรค ซีรีส์แนววิทยาศาสตร์เรื่องดังของ จีน ร็อดเดนเบอร์รี ซึ่งว่าด้วยการผจญภัยในห้วงอวกาศของกัปตันเคิร์ก รองกัปตันสป็อก และลูกเรือของยาน เอนเทอร์ไพรส์ เพื่อพบในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครพบได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครรู้

แม้ในชีวิตจริงเราจะยังไม่มีเทคโนโลยีการเดินทางด้วยความเร็ววาร์ปแบบในเรื่อง สตาร์เทรค แต่มนุษย์จากทั่วทุกมุมโลกก็ศึกษาห้วงอวกาศและวัตถุท้องฟ้าไม่ต่ำกว่าหลายพันปีรู้ได้จากสิ่งก่อสร้างในอดีตที่สัมพันธ์กับวัตถุท้องฟ้า อย่างมหาพีระมิดในอียิปต์ที่วางตัวตามแนวทิศเหนือใต้ออกตกได้อย่างแม่นยำ หรือกลุ่มหินสโตนเฮนจ์ทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษที่เรียงตัวสัมพันธ์กับแนวการเคลื่อนของดวงอาทิตย์

ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ยุคก่อนที่เฝ้าเพ่งพินิจดวงดาวด้วยตาเปล่าเพื่อคำนวณการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล นักปราชญ์ยุคกลางที่ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์และมองการเคลื่อนที่ของดวงดาวจนรับรู้ว่าโลกเราโคจรรอบดวงอาทิตย์ หรือนักวิจัยยุคปัจจุบันที่ใช้อุปกรณ์ดาราศาสตร์สมัยใหม่ศึกษาการเกิดดับของจักรวาลอันไกลโพ้น  ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้คนก็ยังคงแหงนหน้ามองฟ้าด้วยความสงสัยใคร่รู้ประหนึ่งคือภารกิจร่วมของมวลมนุษย์

ในคืนนี้เราอยากชวนทุกท่านร่วมเดินทางกับวงการดาราศาสตร์ไทย ส่องกล้อง แหงนหน้ามองท้องฟ้า แล้วเริ่มทำความเข้าใจจักรวาลไปพร้อม ๆ กัน...
Image
นิคม ประเสริฐ เจ้าหน้าที่เทคนิคดาราศาสตร์ชำนาญการ ศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ (ศดว.) เทียบกับขนาดจานรับสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ
Image