Image
Space 101
EP.
[ คนไทยไปอวกาศ ]
เรื่อง : สโรชา ถาวรศิลสุระกุล
กราฟิกดีไซน์ (นิตยสาร) : แพรวระวี รุ่งเรืองสาคร
“โลก” ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน บ้านผู้โอบกอดทุกสรรพสิ่งที่ถือกำเนิดภายใน
Image
“ประชาชนแห่งโลก, เรามาร่วมมือกันเพื่อที่จะปกป้องและธำรงรักษาความงามนี้ และไม่ทำลายมัน” ยูริ กาการิน, นักบินอวกาศชาวรัสเซียและมนุษย์คนแรกบนวงโคจรในอวกาศนอกโลก

หากเราหลุดออกไปจากม่านฟ้าที่ห่อหุ้ม ไร้ซึ่งพันธนาการของธรรมชาติที่รู้จัก ไร้การปกป้อง
จากมารดาผู้ให้กำเนิด เราจะพบเจอกับอะไร ? 

นักบินอวกาศต่างประสบความรู้สึกคล้ายคลึงกันเมื่อเห็นใบหน้าแท้จริงของโลก พวกเขาตระหนักชัดแจ้งถึงสายใยพิเศษที่เชื่อมต่อตนกับดาวเคราะห์สีน้ำเงิน ก่อกำเนิดความรู้สึกอยากปกป้องดูแล เชื่อมต่อสายสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันกับทุกสรรพ
สิ่งบนผืนโลก ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า overview effect (“อิทธิพลของภาพรวม”) ศัพท์ overview effect ไม่ได้บัญญัติโดยนักบินอวกาศ หากแต่เป็นนักเขียนและนักปรัชญาผู้สนใจห้วงอวกาศ แฟรงก์ ไวต์ (Frank White) ขณะนั่งเครื่องบินมองลงมาพื้นโลก

นักบินอวกาศนั้นได้รับประสบการณ์ที่รุนแรง
ด้วยมุมมองที่กว้างขวาง ความรู้สึกว่าตนไม่พิเศษทั้งยังเข้าใจความเปราะบางของชีวิต ว่าเราเป็นเพียงเศษเสี้ยวในพื้นที่ยิ่งใหญ่มหาศาล กำเนิดเป็นความปรารถนาแรงกล้าที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด

โลกยังเยาว์นักเมื่อเทียบกับอายุของสรรพสิ่ง
ในจักรวาล สรรค์สร้างจากผลกระทบของสิ่งเล็กจ้อยยิ่งกว่าตาเห็น ขยายตัวกว้างไกลเกินกว่าที่เราจะจินตนาการ แต่มนุษย์มักมองฟ้ากว้างดื้อรั้นปรารถนาที่จะเข้าใจสิ่งยิ่งใหญ่กว่าตน เราอยู่ที่ใดในจักรวาล
ภาพ : NASA
Image
ภาพ Ultra Deep Field ที่เกิดจากการรวมภาพถ่ายในบริเวณเดียวกัน กว่า ๑๐ ปีของกล้องฮับเบิล แสดงบริเวณเก่าแก่ของเอกภพที่มีอายุราว ๑.๓๒ หมื่นล้านปี
Record 
of Everything

แสงทั้งช่วงคลื่นที่ตามองเห็นและมองไม่เห็น เป็นบันทึกอันเลอค่าที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตามรอยแกะดาว เข้าใจการถือกำเนิดและพัฒนาการของสรรพสิ่งในเอกภพ ทั้งยังสามารถคำนวณอายุ สารตั้งตน และคาดการณ์กลไกที่ควบคุมการดำเนินไปของเอกภพ

กว่าที่แสงจากดวงจันทร์จะมากระทบตาเรานั้นเหลื่อมประมาณ ๑ วินาที ดังนั้นเวลาที่มองดวงจันทร์ เราเห็นอดีตของดวงจันทร์เมื่อวินาทีที่แล้ว  ขณะมองดวงดาวส่วนใหญ่บนฟากฟ้านั้นซึ่งอยู่ห่างประมาณ ๑๐-๑๐๐ ปีแสง เท่ากับเรามองอดีตเมื่อ ๑๐-๑๐๐ ปีก่อนของดาวดวงนั้น  ในทางกลับกัน ณ เวลานี้ก็มีดวงดาวที่กำลังเห็นการล่มสลายของเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์บนโลกเมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อนเช่นกัน
Image