Image

ศาสตร์ศิลป์โนรา
ศักดิ์ศรีโรงครู
ตอน 1

scoop

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

“โนรามาแล้ว !”

เมื่อเสียงคนหนึ่งดังขึ้น เสียงคนอื่นก็กระซิบบอกต่อคนในบ้านชาวคณะ โนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์ กุลีกุจอขนเครื่องดนตรี ชุดแต่งกาย อุปกรณ์ตกแต่งโรงครู และสรรพสิ่งที่จำเป็นในการประกอบพิธีลงจากรถกระบะมายังโรงครู

ตรงหน้าคือศาลาไม้ไผ่ยกพื้นเตี้ย ทิศตะวันออกทำเป็น “พาไล” สำหรับตั้งศาล วางเครื่องบูชาและเครื่องสังเวยแล้วพาดบันไดไม้ไผ่ไว้สำหรับปีนขึ้น-ลง  เมื่อหันหน้าหาพาไล บันไดจะพาดอยู่ซีกซ้าย ซีกขวามีเทริดหน้าพราน (เทริด อ่านว่า เซิด) และเครื่องแต่งกายโนราแขวนไว้บูชาส่วนห้องแต่งตัวของชาวโนราจะอยู่หลังม่านที่วาดเป็นฉากประกอบการแสดง เป็นการเจียดพื้นที่โรงครูไว้หลับนอนช่วง ๓ วัน ๒ คืน แม้เอาจริงก็แทบไม่ได้นอน

ท่ามกลางเสียงจอแจของหมู่ญาติในเขตรั้วบ้านเจ้าภาพ บ้างสรวลเสเฮฮากินดื่ม สาละวนเตรียมอาหารไม่ให้ขาดพร่อง และช่วยโนราจัดการสถานที่ หัวใจของคนต่างถิ่นที่ร่วมสังเกตการณ์พิธีในครอบครัวผู้อื่นแอบเต้นไม่เป็นจังหวะเมื่อเจ้าบ้านแนะนำให้รู้จักห้อง “ครูหมอตายาย”

เหมือนมีความลับสำคัญซุกซ่อนและเป็นเหตุแห่งพิธี “โนราโรงครู”

มาตะ-มาเถิด
ยินดีต้อนรับ

เปรียบธรรมเนียมสากลมี welcome drink คนไทยมีน้ำเย็น ๆ พร้อมของว่าง

ทางปฏิบัติโนราเจ้าบ้านก็ต้องถวายพานขันหมากแก่โนราใหญ่ผู้เป็นนายโรง

ก่อนตะวันตกดินวันพุธ คือจุดเริ่มพิธีเบิกโรง “ยามนกชุมรัง” (สำนวนชาวใต้หมายถึงช่วงเวลาเย็นย่ำ) แม้พิธีกรรมยึดโยงจากตำนานโนราตอนรับนางนวลทองสำลีกลับวัง แต่แง่กุศโลบายก็เป็นเวลาเหมาะ เนื่องจากเป็นโมงยามที่ลูกหลานเสร็จการงานกลับถึงบ้านพร้อมเพรียง

โนราโรงครูเต็มรูปแบบกำหนดระยะไว้ ๓ วัน ๒ คืน แม้ไม่ชี้ชัดข้างขึ้นข้างแรม แต่รู้ตรงกันว่าต้องเริ่มพิธีเข้าโรงครูในวันพุธและสิ้นสุดเพื่อส่งครูในวันศุกร์เสมอ เว้นแต่ศุกร์นั้นตรงกับวันพระ เชื่อกันว่าครูหมอตายายจะถือศีล ไม่อาจมาร่วมพิธีรับเครื่องเซ่นไหว้ จึงเลื่อนไปส่งครู-เลิกโรงวันเสาร์แทน

หลายจังหวัดภาคใต้นิยมประกอบพิธีช่วงเดือนยี่ถึงเดือนสามแต่แถบนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา นิยมทำในเดือนหกถึงเดือนเก้า ต้นจวบกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ เราจึงได้ติดตามโรงครูคณะโนราไข่น้อย ดาวจรัสศิลป์ ไม่ขาดตอนจากบ้านแรกในตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ต่อด้วยบ้านที่ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา มาถึงบ้านนี้ในตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ซึ่งพิเศษกว่าสองหลังแรกตรงเป็นครอบครัวที่รวมบรรพบุรุษทั้งผู้นับถือพุทธและมุสลิม

Image

ขบวนอัญเชิญ “ทวดนวลทองสำลี” เป็นประเพณีประจำปีที่วัดพะโคะ จังหวัดสงขลา จัดให้ผู้ศรัทธามาสักการะ “ครูต้นตระกูลโนรา” ในช่วงออกพรรษา

Image

“โนรา” ต่างจากมหรสพทั่วไปตรงเป็นบันเทิงสำหรับ ประกอบพิธีกรรม การฟ้อนรำโดยมากจึงมักเกิดใน “โรงครู”

Image