เรื่องวุ่น ๆ
ของมรดกภูมิปัญญา
ทางวัฒนธรรม
อานันท์ นาคคง
นักมานุษยวิทยาดนตรี
อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Interview
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“จะอยู่ในเส้นกั้นประเทศ หรือจะเปิดพรมแดนออกไป...”
ในแวดวงดนตรีและศิลปวัฒนธรรม ชื่อ อานันท์ นาคคง เป็นที่คุ้นเคยในฐานะ “นักดนตรี/นักวิชาการ” เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้งวงดนตรีไทยร่วมสมัย “กอไผ่” เขายังเป็นสมาชิกวง “ฟองน้ำ” และวงดนตรีที่ทำงานเพลงแนวใหม่อีกหลายวง
ผลงานของเขาบางชิ้นเป็นที่รู้จักมากกว่าชื่อตัว ดังเช่นน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเขามีบทบาทอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ดัง โหมโรง อันได้แรงส่งจากหนังสือหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์ที่เขาเขียนร่วมกับ อัษฎาวุธ สาคริก
อานันท์บอกว่าอาชีพของเขาคือ “นักมานุษยวิทยาดนตรี” (ethnomusicology) ที่นอกจากสอนหนังสือแล้วยังชอบออกเดินทางไป “เก็บเสียง” ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะแถบอาเซียนหรือกระทั่งตามพื้นที่ชุมนุมประท้วง เขาบอกว่าเสียงเหล่านี้เล่าเรื่องได้มากมาย เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม วิถีชีวิต บ่งบอกถึงสุขภาพของสังคม
การเดินทางเก็บเสียงยังทำให้อานันท์เห็น “ความหลากหลาย” ของคนในภูมิภาค เขามีประสบการณ์ทำงานกับนักดนตรีในอาเซียนมายาวนาน ทั้งมีส่วนก่อตั้งวงดุริยางค์เยาวชนอาเซียน (C ASEAN Consonant) เพื่อพัฒนาดนตรีแนวประเพณีไปสู่อนาคต
ช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา ดรามาเรื่องหนึ่งที่เกิดบ่อยครั้งคือการขึ้นทะเบียนมรดกโลก (ไม่ว่าจะประเภทใด) ที่ไทยมักกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้านว่ามรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนั้นเป็น “ของฉัน” หรือ “ของเธอ”
ในโอกาสที่ สารคดี เล่มที่ท่านผู้อ่านถืออยู่นี้ ว่าด้วยเรื่อง “มรดกโลก” หลากประเภท เราจึงสนทนากับอาจารย์อานันท์ ว่าจริง ๆ แล้วของพวกนี้มี “เจ้าของ” หรือไม่ และควรทำอย่างไรกับการจัดการ “มรดก” เหล่านี้
ก่อนจะคุยประเด็นเรื่องมรดกโลก อยากให้อธิบายว่า ethnomusicology คืออะไร
คำว่า ethnomusicology แปลว่า “มานุษยวิทยาดนตรี” หรือ “ดุริยางคศาสตร์ชาติพันธุ์” ก็ได้ เป็นการใช้กระบวนการศึกษาทางมานุษยวิทยาโดยมีดนตรีและเสียงเป็นสื่อกลางทำความเข้าใจมนุษย์ หรือจะนิยามกลับกันว่าเป็นการศึกษาดนตรีโดยวิธีการทางมานุษยวิทยาและศาสตร์แขนงอื่นก็ได้
ความรู้ดนตรีไม่ใช่แค่อ่านโน้ตเพลง รู้ประวัติ แต่ต้องศึกษาคนด้วย ความเชี่ยวชาญของนักมานุษยวิทยาดนตรีไม่ใช่ฝึกฝนดีดสีตีเป่าขับร้องเท่านั้น แต่ต้องฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง รู้จักสังเกตตั้งคำถาม เข้าใจการใช้ชีวิตร่วมกับคนที่แตกต่าง เรียนรู้วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เกาะติดความเปลี่ยนแปลง หมั่นออกภาคสนาม
ผมเดินทางตลอด เวลาไปไหนมักมีเครื่องบันทึกเสียงติดตัวสำหรับช่างภาพ ดวงตาคือกล้องถ่ายรูปที่ดีที่สุด สำหรับผม
หูคือเครื่องบันทึกเสียงที่ดีที่สุด ผมฝึกฟังเสียงแล้วสังเกต เช่น
บางทีได้ยินเสียงนกร้องในพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้ นกมาชุมนุม
บนสายไฟฟ้า ก็สงสัยว่าทำไมมันมาปาร์ตี้ตรงนั้น อ๋อ เพราะต้นไม้ไม่เหลือแล้ว มันบินกลับบ้านไม่ได้
เครื่องบันทึกเสียงบันทึกประวัติศาสตร์ได้มาก ไม่ใช่แค่เสียงดนตรี ในวาระพิเศษเช่นเสียงประกาศสลับเพลงปลุกใจเวลารัฐประหารหรือมีประท้วงกัน ผมก็ไปอัดเสียง ผมเก็บเสียงการเมืองมาตั้งแต่ก่อนยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดง (ปี ๒๕๔๙/ค.ศ. ๒๐๐๖) เพราะในการชุมนุมมีองค์ประกอบที่น่าสนใจเยอะ ดนตรี คำปราศรัย เสียงนกหวีด เสียงมือตบ ตีนตบ ผมทำจดหมายเหตุเสียง (sound archive) แล้วเอามาถอดรหัสความรู้ เล่าเรื่องทางรายการวิทยุบ้าง เขียนบ้าง
อาจารย์เคยพูดถึงตระกูลเสียงดนตรีอุษาคเนย์ มีอยู่จริงหรือ
มีครับ ดนตรีในภูมิภาคนี้มีเสน่ห์คือความหลากหลายโดดเด่นทั้งแนวดนตรีภาคพื้นทวีปกับคาบสมุทร-กลุ่มเกาะชาติพันธุ์ ภาษามากมาย แถมมีญาติทางวัฒนธรรมเต็มไปหมด ไม่ว่าจีน แขก อาหรับ ฝรั่ง บางพื้นที่ก็มีเสียงที่แสดงความเป็นศูนย์กลางอยู่เหนือคนอื่น เช่นดนตรีไทย ซึ่งมักลืมว่าเรามีแคน สะล้อด้วย ชอบไปนึกว่ามีแค่ซอสามสาย ปี่พาทย์หลวง แล้วดูถูกสะล้อ ปี่พาทย์ล้านนา
บางชาติมีหน่วยงานระดับกระทรวงที่ชูว่าสิ่งไหนเป็นเอกลักษณ์แล้วก็กดทับคนอื่น ระดับการข่มเหง อคติทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้สูงที่สุดในโลก