Image
รูปฤๅษีดัดตนบนเขามอ ข้างพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ฤๅษีดัดตน
แขวงวิชาหนึ่งของ
“นวดไทย”
scoop
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพวาด : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
บทความเรื่องนี้ตัดตอนจากหนังสือ ฤๅษีดัดตน : มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
Image
รูปปั้นฤๅษี พิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ตฮอลล์ เมืองชัยปุระ สาธารณรัฐอินเดีย
ภาพ : ศรัณย์ ทองปาน

ปี ๒๔๓๔ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ปี ๒๔๐๕-๒๔๘๖) ขณะเมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ ระหว่างทางเสด็จกลับจากราชการ ณ ทวีปยุโรป ทรงแวะทอดพระเนตรกิจการบ้านเมืองในอินเดีย ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนอาณานิคมอังกฤษ  เมื่อเสด็จยังเมืองชัยปุระ (Jaipur ไจปูร์) แคว้นราชสถาน ทรงเล่าย้อนความหลังว่า
“วันหนึ่งเขาพาฉันไปดูพิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระไปเห็นรูปปั้นเป็นฤๅษีอย่างในอินเดีย ทำท่าต่าง ๆ เหมือนอย่างรูปฤๅษีดัดตนในวัดพระเชตุพนฯ แต่ขนาดย่อม ๆ ตั้งเรียงไว้ในตู้ใบหนึ่ง ที่จริงควรฉันจะถามเขาว่ารูปอะไร แต่ฉันไปอวดรู้ถามเขาว่ารูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าดัดตนให้หายเมื่อยหรือ เขาตอบว่าไม่ใช่ แล้วบอกอธิบายต่อไปว่า รูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าต่าง ๆ ที่พวกดาบสบำเพ็ญตบะเพื่อบรรลุโมกขธรรม ฉันได้ฟังก็นึกละอายใจ ไม่พอที่จะไปอวดรู้ต่อเขาผู้เป็นเจ้าของตำราเรื่องฤๅษีชีพราหมณ์ แต่เกิดอยากรู้แต่นั้นมาว่า เหตุไฉนรูปฤๅษีดัดตนที่เราทำในเมืองไทย จึงไปพ้องกับท่าดาบสบำเพ็ญตบะของชาวอินเดีย”
พิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระแห่งนั้น ย่อมได้แก่อัลเบิร์ตฮอลล์ (Albert Hall Museum) พิพิธภัณฑ์เก่าแก่ที่สุดของเมือง ขนานนามเฉลิมพระเกียรติตามพระนามเดิมของสมเด็จพระราชาธิบดีเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII Albert
Edward 1841-1910/ปี ๒๓๘๔-๒๔๕๓) ซึ่งเสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ตั้งแต่เมื่อยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร

จนทุกวันนี้ในพิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ตฮอลล์ยังมีตู้กระจกที่ตั้งรูปปั้น “ฤๅษีอย่างในอินเดีย ทำท่าต่าง ๆ” เรียงเข้าแถวกันไว้เต็มตู้ ซึ่งน่าจะเป็นชุดเดิมชุดเดียวกับที่สมเด็จฯ ทรงกล่าวถึง

หลังเสด็จกลับถึงสยาม พระชนม์ชีพของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นมีอันให้ต้องเปลี่ยนผันไปจากงานจัดการศึกษาแผนใหม่ที่เคยตั้งพระทัยไว้ ด้วยทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรก อันทำให้ทรงได้รับคำยกย่องว่าเปรียบประดุจ “พระหัตถ์” (มือ) และ “เพชรประดับมงกุฎ” ของรัชกาลที่ ๕

แม้ล่วงมาจนถึงในรัชกาลที่ ๗ สมเด็จฯ ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาให้แก่พระมหากษัตริย์

กระทั่งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตัดสินพระทัยเสด็จลี้ภัย
Image
๏ สมาธิ์ขัดหัดถ์ยุดทั้ง เพลาเศียร
สระสร่างแสลงลมเวียน ศิระเกล้า
นามธะหะพระผู้เพียร ผนวดเน่อน นานแฮ
ธะอักษรควบเข้า เพอมให้นามกรุง ๚
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส

ท่านั่งขัดสมาธิ มือข้างหนึ่งดันขา มืออีกข้างดันศีรษะ ใช้แก้ลมที่ทำให้เวียนศีรษะ นี่คือฤๅษีธะหะ ผู้ออกบวชมาเนิ่นนาน เป็นที่มาของตัวอักษร ธะ ในนามกรุงอยุธยา
Image