โขน คน ครู :
ศิลปะจรรโลงใคร
ในกระแสธารแห่งการอนุรักษ์
scoop
เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
๑๙.๓๐ น. โดยประมาณ ณ หน้าหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้คนขวักไขว่รอดูโขนพระราชทาน ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ช่วงเวลาเดียวกันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของยูเนสโก (UNESCO) มีมติเอกฉันท์ พิจารณาให้โขนไทย (Thailand : Khon, masked dance drama in Thailand) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นรายการแรกของไทย เปิดประตูมรดกไทยสู่สายตาชาวโลกได้อย่างภาคภูมิ
ในมุมมองของคนที่คลุกคลีอยู่กับโขน ทั้งวงการนาฏศิลป์และผู้ชื่นชอบ คงเป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อยเมื่อสิ่งที่รักและชื่นชมได้รับความสำคัญในระดับสากล
แต่หากลองมองมุมกว้างขึ้นในสายตาของคนทั่วไปก็คงไม่เกินจริงนักที่จะบอกว่า โขนถูกวางไว้บนหิ้ง หลายคนมองเป็นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามแตะต้อง บ้างว่าช้าน่าเบื่อ บ้างว่าดูแล้วไม่เข้าใจ ไปจนถึงมองว่าเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่เอาไว้ขายให้นักท่องเที่ยว
นี้คือสิ่งที่ทำให้ย้อนนึกถึงการเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติว่าโขนจะก้าวต่อไปอย่างไร ในยุคสมัยที่สังคมเปิดกว้างทางความคิด
การสืบสานมรดกวัฒนธรรมมักถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะความคิดเห็นของคนต่างช่วงวัย ว่าวัฒนธรรมควรถูกวางไว้ที่เดิมและถูกกีดกันให้ห่างไกลจากชีวิตประจำวัน หรือควรจะอยู่ร่วมกับผู้คนอย่างกลมกลืนและเท่าทันความเปลี่ยนแปลง
กะเทาะเปลือก
เครื่องทรง
ประติมากรรมร่างมนุษย์ขนาดใหญ่ ชิ้นหนึ่งสวมหัวโขนยักษ์ อีกชิ้นสวมหัวโขนพญาฉัททันต์ นอนตะแคงจับแขนประสานกันเป็นซุ้มประตู ตระหง่านย่านทำเลหรู เป็นภาพแปลกตาจนคนผ่านไปมาอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูป ทั้งจากบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพลินจิตหรือเข้าประชิดมาถ่ายใกล้ ๆ หากจะบอกว่านี่คือยักษ์ทวารบาลก็คงจะใช่ แต่ก็ดูจะห่างไกลกับภาพจำในท่าทางขึงขัง แต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศ และยืนตรงนิ่งเพื่อปกปักรักษา เพราะภาพที่เห็นคือร่างกายเปลือยเปล่า แสดงให้เห็นกล้ามเนื้อและความเป็นมนุษย์