Image
Minimal Trend
ในทัศนะของ “ผู้ผลิต”
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ในเวลาจำกัดที่เราตามหาเรื่องราวของ “มินิมอลชน” (minimalist) ในเมืองไทย

ประเด็นย้อนแย้งเรื่องหนึ่งคือ ส่วนใหญ่ไม่มีใครยอมรับว่าใช้ชีวิตเป็น minimalist  ขณะที่ “ผู้ผลิต” ที่
สร้างเนื้อหา (content) ผลิตสินค้าและบริการมินิมอล ก็แบ่งออกได้สองกลุ่ม คือ กลุ่มแรก ยอมรับว่าเพียง “ได้รับแรงบันดาลใจ/อิทธิพล” จากกระแส  กลุ่มที่ ๒ มั่นใจและใช้คำว่า minimal จนเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งยังรู้สึกว่าการใช้คำนี้ “อินเทรนด์” และสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างตรงไปตรงมา

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของ “บทสนทนากับผู้ผลิต”
ที่สร้างสินค้าและบริการที่คนจำนวนมากเชื่อว่าคืองานแนวมินิมอลในแง่ของวิธีคิด วิธีการทำงานและมุมมองต่อกระแสมินิมอลในเมืองไทย

“คำที่เราใช้บ่อยคือ
‘มีเหตุผล’ (rational)”
จุฑามาส บูรณะเจตน์
ปิติ อัมระรงค์
object design alliance/
o-d-a

Image
กระแสมินิมอลกับ o-d-a 
ปิติ : เรียนเรื่องมินิมอลตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เห็นในหนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ Braun ซึ่งต่อมาส่งผลถึง Apple ที่เริ่มติดตลาด วิชากราฟิกมีเรียนเรื่องนี้ มันเข้าใจได้ง่ายมาก พื้นขาว ตัวหนังสือเล็ก ท้าทายคนออกแบบว่าต้องทำอะไรที่น้อย แต่มีความหมาย ในวงการออกแบบผลิตภัณฑ์เราผ่านยุคผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมามาก ผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายและดีก็ควรมี ในแง่ของมินิมอลไม่ว่าเราจะนิยามจาก Apple, MUJI, Xiaomi มันใช้งานได้และมีอิทธิพล

จุฑามาส : สมัยเรียน (ทศวรรษ ๑๙๙๐) วงการออกแบบผลิตภัณฑ์ไทยไม่ได้ชัดเจนเรื่องมินิมอลเท่าต่างประเทศ  หลังเรียนจบถึงเห็นงานนักออกแบบอย่าง นาโอโตะ ฟุคาซาวา (Naoto Fukasawa-ผู้ออกแบบเครื่องเล่น CD ติดผนังที่ทำงานด้วยการกระตุกเชือกแบบพัดลมระบายอากาศให้ MUJI) เรื่องนี้จะเด่นในฝั่งสินค้าเทคโนโลยี ส่วนของใช้น่าจะชัดเจนในวันที่ MUJI และ UNIQLO เข้ามาขายของในไทย
“เราอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนมีบ้านเก่ารีโนเวตบ้าน”

มณฑิรา ยืนยาว, ธิราทิพย์ ยืนยาว
ผู้บริหาร SISSAY ASSET ผู้สร้าง/รีโนเวตบ้านแบบ MUJI Minimal Style

เหตุผลที่รีโนเวตบ้านแนวมินิมอลขาย
เราพอมีทรัพยากร เพราะพี่สาวคนโตทำธุรกิจรับเหมา จึงพอมีช่างและความรู้ที่เอามาต่อยอดได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องใหม่มากในวงการอสังหาริมทรัพย์ ก่อนโควิด-๑๙ ระบาด เราชอบไปอยู่ตามคาเฟ่ช่วงวันหยุด จึงคิดว่าทำบ้านแนวนี้น่าจะสนุก และคนรุ่นใหม่ก็อยากได้บ้านแนวเกาหลี (ใต้) ญี่ปุ่น เป็นบ้านที่มีความเป็นตัวเองและเก๋  ในตลาดตอนนั้นยังไม่มีใครทำแบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราเริ่มจากการหาทรัพย์ (หาบ้านเก่า) มารื้อแล้วปรับปรุงใหม่ จุดขายคือการออกแบบและขายในราคาที่พอเหมาะ
“มินิมอลจะไม่หายไป”
นนทน์ พงศ์ไพโรจน์
CEO และผู้ก่อตั้ง dash.space

Image
งานออกแบบของ dash.
เราไม่ค่อยพูดคำว่ามินิมอล เพราะผลิตภัณฑ์จะบอกเอง เรามีกฎตอนออกแบบว่า หนึ่ง ต้องเรียบง่าย  สอง ใช้งานได้หลากหลาย  สาม ใช้ได้ทุกเพศ  เราพยายามออกแบบให้อยู่ตรงกลาง เน้นหน้าที่ (function) มีส่วนต่าง ๆ ที่เมื่อใช้งานจะรับรู้ได้ เช่น กระเป๋ามีส่วนโค้งเข้าแขน ใช้แม่เหล็กเปิดปิดเพื่อลดภาระผู้ใช้ที่ควรเอาเวลาไปคิดเรื่องอื่น เพราะบางทีต้องเคลื่อนที่ ต้องโหนรถไฟฟ้าก็ยุ่งมากแล้ว
“เราทำเฟอร์นิเจอร์แบบยุโรปเหนือ (Scandinavian)
และทำให้มันทำงาน (function)”
วรันธร เตชะคุณากร
ผู้จัดการแผนก Inspiration & Communication 
IKEA (อิเกีย) ประเทศไทย

Image
IKEA ผลิตเฟอร์นิเจอร์แนวมินิมอลหรือไม่
หลักการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA ไม่ได้ยึดติดแนวทางใดแนวทางหนึ่ง แต่การที่เรามาจากสวีเดน แนวของเราคือยุโรปเหนือ (Scandinavian) เรายึดหลักออกแบบที่เรียกว่า democratic design ซึ่งมีห้าอย่าง หนึ่งในนั้นคือความเรียบง่าย ตรงนี้อาจตรงกับคำว่ามินิมอลที่คนไทยคุ้นเคย  เราทำให้เฟอร์นิเจอร์ตอบโจทย์การใช้งาน (function) มากที่สุด เช่น ออกแบบโซฟา จะให้ใช้งานได้มากกว่านั่ง ใช้นอนได้ด้วยและนอนแบบมีคุณภาพ เก็บของได้ ช่วยประหยัดพื้นที่ในบ้าน นี่คือหลักการของ IKEA
“เค้กมินิมอลมีจุดเด่นคือ ผู้สั่งออกแบบได้ด้วย”
สุตานันท์ รื่นธงชัย
เจ้าของร้านเค้กมินิมอลออนไลน์
PPTHEBAKER

เค้กมินิมอลคือเค้กแบบไหน
กระแสนิยมเค้กมินิมอลมีในต่างประเทศมาพักหนึ่งแล้ว ถ้าชอบอ่านนิตยสารเกี่ยวกับการทำเค้กหรือตาม Instagram ของร้านเค้กในเกาหลีใต้ ของพวกนี้จะขึ้นให้เห็นผ่านตาอยู่เรื่อย ๆ  ร้านเค้กแบบนี้ในไทยก็ได้ต้นแบบจากเกาหลีใต้เสียมาก
Image