Image
พื้นที่สไตล์มินิมอล dash.space รามอินทรา ๑๙ กรุงเทพฯ
The Minimalist
(เมด) อินไทยแลนด์
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ (พื้นที่สไตล์มินิมอล dash.space รามอินทรา ๑๙ กรุงเทพฯ)
“พร้อมส่ง ราคาถูก ส่งไวที่สุด การ์ดมินิมอล ราคายกเซต ๑๕ ใบ”

“กล่องทิชชู่สไตล์มินิมอล มี ๒ สี”

(ข้อความ “โฆษณา” จากร้านค้าสองแห่งในแอปพลิเคชัน Shopee)
เปิดตัวหมู่บ้านดีไซน์มินิมอล สไตล์ญี่ปุ่น (ชื่อหมู่บ้าน) ทำเลใกล้เมืองโคราช...”
(ข้อความโฆษณาของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งทางเฟซบุ๊ก)
ไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อใด แต่รู้ตัวอีกทีคำว่า “มินิมอล” (minimal) ก็อยู่รอบตัวคนไทย โดยเฉพาะในแง่ “ผลิตภัณฑ์/สินค้า” ที่แทบจะใช้คำนี้ในทางการตลาดจนเป็นที่คุ้นเคยไปแล้ว

ส่วนคำถามที่ว่า “มินิมอล” คืออะไร หลายคนก็ดูเหมือนจะมีคำตอบเฉพาะตัว แต่ที่ชัดเจนคือ คำว่า “มินิมอล” กล่าวออกมาแล้วคล้ายกับทุกคนเข้าใจไปในทางเดียวกัน

สิ่งของเครื่องใช้ ย่อมมีสีสันเรียบง่าย ไม่โดดเด่น

อาหาร หมายถึงอาหารจานเรียบง่าย ถ้าเป็นเค้กก็จะแต่งหน้าน้อย ๆ

บ้าน ก็จะถูกคาดหวังว่าจะเป็นสีอ่อน ขาว-ไม้ บรรยากาศอบอุ่น

“มินิมอล” ยังถูกนิยามถึง “วิถีชีวิต” หลายคนอาจเคยอ่านหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว ของ คนโด มาริเอะ (Kondo Marie) ผู้เชี่ยวชาญการจัดระเบียบของในบ้านชาวญี่ปุ่น ดูภาพยนตร์สารคดี The Minimalist : Less is now (ค.ศ. ๒๐๒๑) ใน Netflix ที่ใช้เรื่องการละทิ้งสิ่งของมาเดินเรื่อง

กระทั่งการนำเรื่องของมินิมอลมาทำเป็นภาพยนตร์อย่าง ฮาวทูทิ้ง (ค.ศ. ๒๐๑๙) ของผู้กำกับฯ ไทย

ทั้งหมดนี้อาจยืนยันได้ว่า กระแส “มินิมอล” ก็มาแรงอย่างยิ่งในสังคมไทย

แต่ที่น่าสนใจคือ “มินิมอล” กลับมีประวัติและเรื่องราวที่มากกว่านั้น
คุณเป็น minimalist แบบไหน ?
Image
Image
ตามประสาคนเพิ่งเริ่มศึกษาเรื่องมินิมอล ผู้เขียนทดลองแบ่งคนที่ชอบมินิมอลได้เป็นสองแบบ แบบแรกคือชอบ “ลักษณะ” ของสถาปัตยกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาตามแนวทางมินิมอล (เน้นหน้าที่ฟังก์ชัน ความเรียบง่าย ฯลฯ) หรือถ้าเป็นคนสร้างชิ้นงาน ก็จะออกแบบงานในแนวดังกล่าว แต่มิได้มีวิถีชีวิตในฐานะมินิมอลลิสต์อย่างเคร่งครัด
Image