Image
สงครามรัสเซีย-ยูเครน
เมื่อสนามการค้า
กลับกลายมาเป็นสนามรบ
เรื่อง : รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ผมลืมตาดูโลกในปี ๒๕๓๔ ปีเดียวกับที่ประชาชนชาวยูเครนลงประชามติประกาศตัวเป็นอิสรภาพจากรัสเซียภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นจุดสิ้นสุด
ของสงครามเย็นระหว่างสองอุดมการณ์ทางการเมือง โดยผู้กำชัยคือกลุ่มประเทศตะวันตกที่เชิดชูค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการค้าเสรี มีสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการกำหนดระเบียบโลก

กระแสโลกาภิวัตน์ฉุดพาประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาหลายพันล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจน  แรงจูงใจทางเศรษฐกิจนั้นหอมหวานถึงขนาดมหาอำนาจของโลกสังคมนิยมอย่างจีนและรัสเซียต่างก็ตบเท้าเข้าสู่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) โอนอ่อนผ่อนตามแนวคิดทุนนิยมและเสรีนิยมของอดีตคู่ขัดแย้งสมัยสงครามเย็น

กว่า ๓ ทศวรรษที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับสนามการค้ามากกว่าสนามรบ

แต่ยุคสมัยดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ หลังจากประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย มีคำสั่งดำเนินการ “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ส่งกองกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายกองกำลังทหารและตอบโต้รัฐบาลยูเครนที่ส่งสัญญาณว่าต้องการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO)

ส่วนประเทศโลกตะวันตกเองก็ไม่อยู่เฉย ตอบโต้รัสเซียทันควันด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าเข้มข้นจนเศรษฐกิจรัสเซียระส่ำระสาย ถึงขั้นที่ประธานาธิบดีปูตินออกมาข่มขู่ว่าพร้อมจะตอบกลับด้วยอาวุธนิวเคลียร์

สงครามรัสเซีย-ยูเครนนับเป็นจุดเริ่มต้นของระเบียบโลกใหม่ที่เหล่ามหาอำนาจกลับมาแบ่งขั้วเลือกข้างตามอุดมการณ์ทางการเมืองอีกครั้ง โดยมีฉากหลังคือความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่พร้อมจะปะทุตลอดเวลา พร้อมกับสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ถูกหั่นสะบั้นและไม่มีทางแก้ไขให้กลับมาเป็นเช่นเดิม
Image
Image
ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน และประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี
ภาพ : 123rf.com

Image