ภาณุ อารี
พลวัตของ Soft Power
ในโลกยุคใหม่
Interview
สัมภาษณ์ : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ท่ามกลางสื่อเชิงวัฒนธรรมที่ถูกเรียกว่า soft power ของเกาหลีใต้ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก และรัฐบาลไทยก็เริ่มชูความโดดเด่นของศิลปวัฒนธรรมไทยเพื่อจะนำไปพัฒนาต่อยอดให้แข่งขันได้ไม่ต่างกันนั้น
ภาณุ อารี ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทผู้สร้างหนังรายใหม่ บริษัทเนรมิตรหนัง ฟิล์ม ก็เริ่มเขียนเจาะลึกประเด็นเรื่อง soft power และธุรกิจภาพยนตร์เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ filmclubthailand.com และ workpointtoday.com ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศของบริษัทสหมงคลฟิล์ม จำกัด ตำแหน่งงานที่ต้องค้นคว้าข้อมูล
เพื่อหาวิธีขายหนังในตลาดโลก บวกกับความสนใจส่วนตัวด้านศิลปวัฒนธรรม และเริ่มสนใจประเด็น soft power มากขึ้นจากกรณีความสำเร็จของ ฉลาดเกมส์โกง๑ ที่ไปทำเงินในต่างประเทศโดยเฉพาะจีน และความสำเร็จของหนังเกาหลีอย่าง Parasite๒ ที่สะท้อนถึงความสำคัญของ soft power ในโลกสมัยใหม่ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาอย่างเป็นระบบไม่ใช่ความสำเร็จที่อาศัยดวงหรือโชคเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
ทำไมช่วงนี้คำว่า soft power ถูกยกมากล่าวถึงมากขึ้นทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศ
เมื่อสัก ๑๐ ปีที่แล้วคำนี้อยู่ในบทความวิชาการเป็นส่วนใหญ่ ถ้าค้นอินเทอร์เน็ตมันจะพาเราไปพบบทความที่ตีพิมพ์ในเอกสารวิชาการของมหาวิทยาลัย และจะพูดถึง soft power ในเชิงรัฐศาสตร์ ไม่ค่อยมีใครเชื่อมโยงมาถึงวัฒนธรรมเท่าไร ในสหรัฐอเมริกาเองเวลาเชื่อมโยง soft power ไม่ใช่แค่หนัง แต่รวมถึงวัฒนธรรมบันเทิง ตัวแปรหลักผมเชื่อว่าคือความสำเร็จของ Parasite ที่ทำให้คนเริ่มพูดถึงว่าเป็นเพราะอะไร ตอนนั้นเมืองไทยก็เริ่มมีคนนำคำว่า soft power มาจับความสำเร็จตรงนี้ แล้วเชื่อมโยงไปเรื่องสินค้าทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น เพลง ซีรีส์ จริง ๆ ก่อนหน้า Parasite ในแง่ดนตรีวง BTS๓ ก็ดังมาก่อน