Image
นิตยสาร Going จัดทำโดยฝีมือของศิลปินวง SEVENTEEN เอง ผลิตเป็นของสะสมให้แฟนคลับ
เมื่อฉันเป็นติ่ง
SCOOP
เรื่อง : “101 อาจุมม่า”
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
ขอขอบคุณ : เจ้าของของรักของหวงเอื้อเฟื้อการถ่ายภาพทุกท่าน
Image
ย้อนไปในวัยเยาว์ เวลาเห็นภาพนักร้องลูกทุ่งหรือพระเอกลิเกได้รับพวงมาลัยติดแบงก์สีแดงสีม่วงเต็มคอล้นท่วมหัว อดนึกสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมแม่ยกถึงหลงรักและกล้าทุ่มทุนให้ศิลปินคนโปรดขนาดนั้น บ้างทุ่มเทขนาดซื้อรถหรูให้ใช้เลย ! แต่เมื่อก้าวสู่การเป็นติ่งเกาหลี โดนนักแสดงหรือไอดอลจากกระแส Hallyu ตกเข้าไปเต็ม ๆ จึงเข้าใจภาพที่เคยเห็นรวมถึงความรักความปรารถนาดีที่มีต่อเมนของเราอย่างไม่มีเงื่อนไข
ทุกวันนี้คำว่า “ติ่ง” ไม่ได้มีความหมายเชิงลบเฉกเช่นอดีต ต้องยกความดีความชอบให้ฐานของแฟนคลับหรือแฟนดอม (fandom) ที่ขยายตัวกว้างมากขึ้น ประกอบกับมีพื้นที่บนโซเชียลมีเดียให้แฟนคลับแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมา จนสมาชิกของแฟนดอมได้เรียนรู้กฎ กติกา มารยาทในการแสดงออกที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม เช่น เมื่อเจอนักแสดงหรือไอดอลคนโปรด ไม่ควรรุมล้อมหรือถ่ายรูปจนรบกวนเวลาส่วนตัวของเขา หรือการไปรับ-ส่งที่สนามบินก็ไม่ควรไปเกะกะการเดินทางของผู้โดยสารอื่นหรือการทำงานของพนักงาน เป็นต้น

การก้าวเข้าสู่โลกของติ่งขณะมีอายุ หน้าที่การงานมั่นคงระดับหนึ่งที่พอจะสนับสนุนศิลปินที่เราชื่นชอบได้นั้น ทำให้โลกนี้รื่นรมย์น่าอยู่ขึ้น  ติ่งหลายคนมักพูดตรงกันว่า เวลารู้สึกหมดพลัง ชีวิตโยนโจทย์โหดร้ายเข้าใส่ ก็จะมีเพลงของไอดอลที่รักหรือมีซีรีส์ให้หลีกลี้ไปพักใจกับนักแสดงที่ชอบได้ ถึงจะช่วยเบี่ยงเบนได้ชั่วครู่ แต่การมีคนตัวเป็น ๆ อยู่ในที่ห่างไกล แม้เขาอาจไม่ได้รับรู้การมีอยู่ของเรา ทว่าการที่ติ่งมารวมตัวกัน มีกิจกรรมทำโปรเจกต์เพื่อคนที่รัก ร่วมพูดคุยแสดงความชื่นชอบเหมือนกับเรา เพียงเท่านี้ก็ทำให้สามารถสูดหายใจลึก ๆ รู้สึกคึกคัก และไม่โดดเดี่ยวเกินไปนัก

เป็นติ่งต้องทำอะไรบ้าง โลกของติ่งเป็นอย่างไร ขออาสาพาไปรู้จักประสบการณ์ในการเป็นติ่งสูงวัยที่สังเกตเรื่องเหล่านี้มาระยะหนึ่ง โดยเขียนแยกประสบการณ์ของติ่งนักแสดงกับติ่งไอดอลของวงดนตรีที่ชื่นชอบ
Image
แฟนคลับระดมทุนขึ้นภาพต้อนรับศิลปิน “คิมซอนโฮ” ในโอกาสมาเยือนเมืองไทยบนป้าย LED หน้าห้างมาบุญครอง
Image