คนขี่จักรยานบนถนนพระอาทิตย์ผ่านป้อมพระสุเมรุ ช่วงปี ๒๕๕๗-๒๕๖๐ ถนนสายนี้เคยมีทางจักรยาน แต่ถูกต่อต้านจากคนท้องถิ่นและมีคนใช้เส้นทางเบาบาง ก่อนจะถูกยกเลิกไปเมื่อมีรัฐพิธีสำคัญ
บทเรียนจากทศวรรษ ๒๕๕๐
กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน ?
สารคดีพิเศษ
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“เลาะเลียบ ‘เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์’
โฉมใหม่”
(mgronline.com, ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗)
“แอร์พอร์ตลิงค์ ชวนร่วมงาน อะเดย์ ไบค์ เฟสต์”
(d.dailynews.co.th, ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๘)
“ชง กทม. ยกเลิกเส้นทางจักรยาน”
(posttoday.com, ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙)
“ไปไม่ถึงฝัน ! ส่อเลิกทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์”
(d.dailynews.co.th, ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑)
ย้อนไปช่วงกลางทศวรรษ ๒๕๕๐
กระแสการใช้จักรยานในไทยพุ่งขึ้นสูงพร้อมการตระหนักถึงอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change/ภาวะโลกร้อน) ด้วยทุกฝ่ายหวังว่า การส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ประหยัดพลังงาน ค่าใช้จ่าย ทั้งยังทำให้เมืองดีขึ้น เพราะส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกมาจากภาคการคมนาคมขนส่ง
สื่อกระแสหลักในยุคนั้นพากันนำเสนอ “ตัวอย่าง” เมืองที่ประสบความสำเร็จในการใช้จักรยาน ไม่ว่าโบโกตา (โคลอมเบีย), โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก), อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์), โตเกียว (ญี่ปุ่น) รวมถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสิงคโปร์
ใน “กรุงเทพฯ” มีคนเข้าร่วมงานคาร์ฟรีเดย์ (Car Free Day/วันงดใช้รถยนต์) ในวันที่ ๒๒ กันยายนติดต่อกันหลายปี ธุรกิจจักรยานเฟื่องฟู คนปั่นจักรยานมากขึ้นในหลายพื้นที่ แม้จำนวนมากยังกังวลเรื่องความปลอดภัยเมื่อต้องใช้ทางร่วมกับรถยนต์ มีงาน Bike Festival กระทั่งรายการทีวีบางรายการมี “จักรยาน” ประกอบฉาก ไม่นับว่ามี Bike Café ร้านกาแฟที่ต้อนรับคนปั่นจักรยานเกิดขึ้นหลายแห่ง
แต่กระแสทั้งหมดจางหายไปเมื่อเข้าสู่ต้นทศวรรษ ๒๕๖๐
หลายคนคงมีคำถามในใจว่า ปี ๒๕๖๕ “กรุงเทพฯ” ล้มเหลวที่จะเป็น “เมืองจักรยาน” แล้วหรือยัง
ถนนราชดำเนินกลางในทศวรรษ ๒๕๕๐ เคยทาสีตีเส้นทำทางจักรยานบนทางเท้า แต่ปัจจุบันเส้นและสีลบเลือนไปมาก