Image
เมือง-คลอง-คน
ลงเรือล่อง “คลอง”
สำรวจวิถี “คน” สองฝั่ง “เมือง”
SCOOP
เรื่อง : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“ทุกคน !
คลื่นมา
ระวัง...”

คลื่นในคลองซัดมาลูกแล้วลูกเล่า ต้องเร่งมือพาย นายท้ายลำหน้าว่าอย่าเอาเรือขวาง ไม่งั้นคงได้ดำน้ำคลองแน่ ๆ  เรือคายักลำน้อยที่ตั้งใจจะสำรวจลำคลองในกรุงเทพมหานครเอียงซ้ายทีขวาทีตามจังหวะคลื่น และด้วยโครงสร้างคอนกรีตริมตลิ่งยิ่งทำให้กระแสคลื่นสะท้อนไปมาทุกทิศทาง กายทำหน้าที่พยุงเรือให้มั่นคง ส่วนใจภาวนาว่าอย่าจม

พื้นที่กรุงเทพมหานครมีคลอง ๑,๖๘๒ สาย รวมระยะทางมากกว่า ๒,๖๐๐ กิโลเมตร แบ่งเป็นคลองฝั่งพระนครและคลองฝั่งธนบุรีโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่น แต่จากคำบอกเล่าและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ พบว่ามีคลองไม่ถึงครึ่งที่เป็นทางสัญจรได้

อยากชวนทุกคน “ลงเรือ” เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่าง “คลอง” และ “คน” ใน “เมืองหลวง” ของประเทศไทย
“เมือง” ที่เคยมีฉายาว่า
“เวนิสตะวันออก”

หากเปรียบสายน้ำดั่งร่างกาย ในอดีตแม่น้ำเจ้าพระยาก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่สำหรับการคมนาคม โดยใช้เรือขนส่งสินค้าเพื่อหล่อเลี้ยงเมืองท่าขนาดใหญ่ มีคูคลองเส้นเล็ก ๆ ทั้งตามธรรมชาติและขุดเพิ่มเปรียบเส้นเลือดฝอยเชื่อมต่อเข้าถึงพื้นที่ด้านใน แม่น้ำและลำคลองจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของ “กรุงเทพมหานคร” เมืองที่มีสายน้ำและคูคลองไม่ต่างจากเมืองเวนิสในประเทศอิตาลี นี่เองทำให้ได้รับฉายาว่า “เวนิสตะวันออก”
ภาพวิถีชีวิตในยามเย็นของเด็ก ๆ ริมคลอง กำลังรอจังหวะกระโดดน้ำโชว์ลีลาสนุกสนาน
“คลอง” และ “คน”
ฝั่งพระนคร - เมืองที่ว่ากันว่า
คลอง (จะ) สวย
และน้ำ (จะ) ใส

กลางปี ๒๕๖๔ คนกรุงเทพฯ น่าจะเคยได้ยินว่ามี “โครงการพัฒนา ๕๐ เขต ๕๐ คลองใส” ของกรุงเทพมหานคร ที่จะดูแลจัดการน้ำในคลอง รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาคุณภาพน้ำ ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ปีละหนึ่งคลองในทุกเขต

ปัจจุบันมีการจัดการไปหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพระนครที่พยายามปรับปรุงให้กลายเป็น “แลนด์มาร์กใหม่” ในฐานะแหล่งท่องเที่ยว
Image