เบญจกิติ สวนสาธารณะ
ที่คิดถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ของคนกรุงเทพฯ
SCOOP
เรื่อง : บุษกร รุ่งสว่าง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“ตึ่งงงงง...
“สถานีสุขุมวิท... สุขุมวิท... โปรดใช้ความระมัดระวังขณะก้าวออกจากรถ...
“Sukhumvit station. Please mind the gap between train and platform…”
จากสถานีรถไฟฟ้าเดินเลียบถนนรัชดาภิเษกไปทางใต้ประมาณ ๖๐๐ เมตร ความสดชื่นในมวลอากาศและสรรพเสียงรอบตัวเปลี่ยนไป เป็นสัญญาณว่าเรามาถึงจุดหมายที่ตั้งใจแล้ว
“สวนเบญจกิติ” สวนสาธารณะขนาด ๔๕๐ ไร่ ใจกลางเมือง
ภายในแบ่งเป็นพื้นที่สวนน้ำ ๑๓๐ ไร่ พื้นที่สวนป่าระยะที่ ๑ : ๖๑ ไร่ และพื้นที่สวนป่าระยะที่ ๒ และ ๓ : ๒๕๙ ไร่
ที่ราชพัสดุผืนนี้เป็นฐานการผลิตของ “โรงงานยาสูบ” ก่อนจะนำมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะตามมติคณะรัฐมนตรีในสมัยนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ด้วยเหตุผลหลักสองประการ คือ ๑. เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ในปี ๒๕๓๕ คณะรัฐมนตรีและโรงงานยาสูบจึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินของโรงงานยาสูบเพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะกลางเมือง โดยได้รับพระราชทานชื่อสวนสาธารณะว่า “เบญจกิติ” และ ๒. เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้โรงงานอุตสาหกรรมย้ายออกไปจากแหล่งชุมชน
เมื่อบริบทความเป็นเมืองเปลี่ยนไป สวนสาธารณะควรทำหน้าที่มากกว่าสถานพักผ่อนหย่อนใจ แต่สามารถสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้คนในเมือง
เกาะเนินต้นไม้ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ภูมิปัญญาร่องสวน” ที่ชาวสวนขุดร่องยกแปลงปลูกต้นไม้ขึ้นเพื่อหนีน้ำในฤดูน้ำหลากและกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง เหตุผลที่ออกแบบเป็นทรงกลมเพื่อให้น้ำไหลผ่านสะดวกและแบ่งพื้นที่อาศัยให้สัตว์ต่าง ๆ