Image

ลำพูต้นสุดท้ายของบางที่ค้นพบโดย สมปอง ดวงไสว อาจารย์สอนศิลปะ โรงเรียนวัดสังเวช ล้มไปเพราะน้ำท่วมในปี ๒๕๕๔  ปัจจุบันมีต้นลำพูที่ชาวชุมชนนำมาปลูกทดแทนในสวนสันติชัยปราการ

บางลำพู
ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าเคล้าอดีต
เยาวชนกับอนาคตผู้คน

SCOOP

เรื่อง : เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ณ สวนสันติชัยปราการยามบ่ายอ่อนแดดโรย มีลมแม่น้ำเจ้าพระยาพรูผ่านมาไม่ขาดช่วง พัดเอาใบชราบนต้นลำพูปลิดคว้างไปกับสายลม ราวกับเป็นสัญญาณของสิ่งเก่าที่ต้องผ่านเลยร่วงตามกาลเวลา เพื่อให้สิ่งใหม่ได้เกิดขึ้นทดแทน ทั้งการผลิยอดออกใบ แตกดอกเผยเกสร แล้วออกผล ก่อนจะร่วงหล่นอีกครั้ง และอีกครั้ง คล้ายสัจจะของชีวิต นี่ก็คงไม่ต่างกับเรื่องเล่าของชุมชนแห่งนี้

Image

คลองบางลำพูและป้อมพระสุเมรุในช่วงการบูรณะปี ๒๕๒๔

กาลครั้งหนึ่ง
ในความทรงจำ

ป้านิด-อรศรี ศิลปี หญิงชราร่างเล็กวัย ๘๙ ปี ประธานประชาคมบางลำพู เป็นคนในย่านนี้มาตั้งแต่กำเนิด อาศัยอยู่แถวถนนข้าวสารเรื่อยมา  ธุรกิจทางบ้านก่อนหน้านี้เปิดร้านขายเสื้อเชิ้ตช่วงถนนพระสุเมรุ ชื่อร้านว่า “นพรัตน์” ก่อนจะย้ายบ้านมาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงถนนพระอาทิตย์ เปลี่ยนธุรกิจเป็นร้านอาหารตรงตึกแถวหน้าป้อมพระสุเมรุในปัจจุบัน บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

เธอเล่าว่าเมื่อ ๘๐ ปีก่อน บางลำพูเป็นสถานที่ครึกครื้น เต็มไปด้วยผู้คนมาจับจ่ายซื้อของ มีรถรางแล่นผ่าน มีโรงหนัง โรงละคร โรงลิเกของคณะหอมหวล และแถบริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็แน่นขนัดด้วยต้นลำพู นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนริมน้ำ บางลำพู  พอตกกลางคืนก็จะเห็นแสงระยิบระยับเปล่งจากเหล่าหิ่งห้อยตัวเล็กจิ๋ว

“สมัยก่อนแถวนี้เหมือนป่า มีต้นไม้เยอะเชียว แล้วก็มีต้นลำพูจนสุดทางแม่น้ำ พอมืดหน่อยหิ่งห้อยก็มากัน ป้าดูจนชิน ตอนนั้นรู้สึกว่ามันธรรมดา แต่ตอนนี้ไม่เห็นแล้ว ไม่มีแล้ว

“บางที บางอย่างเราก็นึกถึงว่า โอ้ วันเก่า ๆ มันมีอย่างนั้นอย่างนี้ พอกลับมานึกก็เสียดาย”

"ถ้าให้เปรียบชุมชนบางลำพู
ก็คงไม่ต่างกับต้นลำพูขนาดใหญ่
ซึ่งมีกิ่งก้านใบหนา คอยเป็น
ที่อาศัยหากิน หลบแดด ลม ฝน
ของเหล่าหิ่งห้อย"

Image

ป้านิด-อรศรี ศิลปี 
ประธานประชาคมบางลำพู 
วัย ๘๙ ปี

Image