จิตรกรรมฝาผนัง การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ วาดโดย ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ เป็นหนึ่งเหตุการณ์สำคัญตามประวัติศาสตร์ชาตินิยมของทางการไทย ในภาพจะเห็นขบวนอัญเชิญพระแก้วมรกต ตามมาด้วยขบวนเสด็จฯ ของรัชกาลที่ ๑ และวังหน้า
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

กรุงเทพเมื่อแรกสร้าง
SCOOP
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
๒๓๒๕
“รัตนโกสินทร์”
เมื่อแรกสร้าง

“...ดำรัสว่าฟากตะวันออกเปนที่ไชยภูมิดีแต่เปนที่ลุ่ม เจ้ากรุงธนบุรีจึ่งได้มาตั้งอยู่ฟากตะวันตกเปนที่ดอน ครั้งนี้จะตั้งอยู่ฝั่งฟากตะวันตกก็เปนที่คุ้งน้ำเซราะมีแต่จะชำรุดจะภังไป ไม่มั่นคงถาวรยืนอยู่ได้นาน แลเปนที่พม่าฆ่าศึกมาแล้วจะตั้งประชิตติดชานพระนครได้โดยง่าย 

อนึ่งพระราชนิเวศน์มณเฑียรสฐานตั้งอยู่ในอุปจาร รหว่างวัดทั้งสองกระหนาบอยู่ดูไม่สมควรนัก...ก็ในฝั่งฟากตะวันออก ที่ตั้งบ้านเรือนพระยาราชาเสรษฐีแลพวกจีนอยู่นั้น ไชยภูมดีเปนที่แหลมจะสร้างเปนพระมหานครขึ้นให้กว้างใหญ่ ถึงจะเปนที่ลุ่มก็คิดถมขึ้นดีกว่า โดยจะมีการศึกสงครามมาหักหารก็จะได้โดยยาก ด้วยลำแม่น้ำเป็นคูอยู่กว่าครึ่งแล้ว”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑)

เมื่อครั้งมีพระราชดำริสร้างกรุงเทพฯ ในปี ๒๓๒๕

ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน

เมื่อลองกางแผนที่เมืองหลวงสำคัญในโลก ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน ปารีส โตเกียว วอชิงตัน ดี.ซี. ฯลฯ หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมถนนหนทางในเมืองเหล่านั้นจึงตัดเป็น “ตาราง” และวางแนวอย่างเป็นระเบียบ แบ่งพื้นที่ต่าง ๆ ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นย่านที่อยู่อาศัย พื้นที่สีเขียว พื้นที่พาณิชย์ เขตธุรกิจ ฯลฯ

ในขณะที่หันกลับมามองกรุงเทพฯ เราแทบไม่เห็นลักษณะดังกล่าว

น่าสนใจว่า “คำตอบ” ของคำถามเบื้องต้นอาจซ่อนอยู่ในหลักฐานประวัติศาสตร์หลายชิ้น ในช่วงของการสร้างเมืองหลวงแห่งนี้

ดังที่สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (สผม.) ระบุว่า การกำหนดแนวทางการสร้างเมืองสมัยต้นกรุง โดยเฉพาะการ “วางผังเมือง” ในภาษาของคนยุคปัจจุบัน “...ดำเนินการโดยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการป้องกันภัยข้าศึกศัตรูและภัยทางธรรมชาติเป็นหลัก” ก่อนที่จะนำแนวทางพัฒนาเมืองแบบตะวันตกเข้ามาใช้ในภายหลัง

สารคดี ย้อนกลับไปสำรวจหลักฐานเหล่านั้นใหม่อีกครั้ง ด้วยเชื่อว่าแนวคิดการสร้างกรุงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณ “บางกอก” เมื่อ ๒๔๐ ปีที่แล้วย่อมเป็น “ปฐมบท” สำคัญที่ส่งผลสืบเนื่องจนกรุงเทพฯ มีหน้าตาอย่างที่เราเห็นในปี ๒๕๖๕
แผนผังแสดงลักษณะ “เมืองมันดาละ” ของกรุงรัตนโกสินทร์ ตามการวิเคราะห์ของ เอ็ดเวิร์ด วาน รอย (ซ้าย) ก่อนปี ๒๓๒๕ (กลาง) ปี ๒๓๕๒ มีการแบ่งเขตวังหน้ากับวังหลวง (ขวาสุด) ปี ๒๔๕๓ เข้าสู่การพัฒนาแบบสมัยใหม่ แนวคิดมันดาละเริ่มเลือนราง
scrollable-image
Image