“มหาปาสาณคูหา”
รอยศรัทธาของ “พระพิมลธรรม”
Souvenir & History
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ที่ย่างกุ้ง (Yangon) เมืองใหญ่ที่สุดในพม่า นอกจากต้นโพธิ์สองต้นที่รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงปลูกไว้ในคราวเสด็จฯ เยือนเมื่อปี ๒๕๐๓ ใกล้กับมหาเจดีย์กาบาเอ (Kaba Aye Pagoda เจดีย์สันติภาพ) แล้ว (ดูใน สารคดี ฉบับที่ ๔๔๐ พฤศจิ-กายน ๒๕๖๔) ใกล้กันแค่ระยะเดินไม่เกิน ๑๐ ก้าว ยังมีอนุสรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดไปเยือน (หากสงครามกลางเมืองในพม่าและโรคระบาดยุติลงในอนาคต) คือมหาปาสาณคูหา
โดยปรกติ มหาปาสาณคูหาที่มีป้ายด้านหน้าว่า MAHAPASANA SIMA GUHA ไม่ได้อยู่ในลิสต์ของนักท่องเที่ยวไทย ทั้งที่หลายคนมาถึงเจดีย์สันติภาพแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ด้วยทั้งเจดีย์กาบาเอ ต้นโพธิ์ทรงปลูกของรัชกาลที่ ๙ และมหาปาสาณคูหา ล้วนมีความเป็นมาเกี่ยวร้อยกันอย่างน่าพิศวง มิหนำซ้ำยังถือเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับไทยด้วย
หลังได้รับเอกราชในเดือนมกราคม ๒๔๙๑ โครงการใหญ่ที่รัฐบาลพม่าเอกราชชุดแรกซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีอูนุพยายามดำเนินการให้สำเร็จ คือการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖ (ฉัฏฐ-สังคายนา) เนื่องในโอกาส ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อพุทธศาสนามีอายุ ๒,๕๐๐ ปี แต่เนื่องจากพม่านับปีพุทธศักราชเร็วกว่าไทย ๑ ปี ดังนั้นกำหนดการเฉลิมฉลองจึงตรงกับปี ๒๔๙๙ ตามปฏิทินไทย
สำหรับพม่าเรื่องนี้มิใช่เรื่องใหม่ ด้วยหากมองกลับไปในอดีต เราจะเห็นงานพิธีลักษณะนี้ทุกครั้งเมื่อเกิดการย้ายราชธานีหรือเริ่มต้นรัชกาลใหม่ เช่นในรัชกาลพระเจ้ามินดง (ครองราชย์ปี ๒๓๙๖-๒๔๒๑) หลังย้ายเมืองหลวงใหม่ไปที่กรุงมัณฑะเลย์ก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๕ ของโลก หลังจากนั้นทรงให้จารึกพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ลงบนหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น รวม ๑,๔๒๘ หน้า ที่วัดกุโสดอ โดยมีการสร้างมณฑปครอบทุกแผ่น ด้วยทรงรับเป็นพระราชภาระในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา