แม่มดในวิถีพุทธไทย
เรื่องและภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
ภาพเขียนสีคนกางแขนขาทำท่าเป็นกบ ตีกลองมโหระทึก และหมาศักดิ์สิทธิ์ ในตำนานหมาเก้าหางของจ้วงที่เอาหางจุ่มลงในกองข้าวของสวรรค์ ขโมยพันธุ์ข้าวลงมาให้มนุษย์ปลูกกิน ภาพเขียนสีเก่าแก่เร้นลึกด้วยมิติทางจิตวิญญาณในวัฒนธรรมแม่มด เขียนไว้ที่ผาลาย ริมแม่น้ำหนิงเจียง แผ่นดินคนจ้วง มณฑลกว่างซี ประเทศจีน
กลางปี ๒๕๖๔ น้องชายที่รัก อาจารย์จตุพร บุญประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ส่งข้อมูลสำคัญมาให้ดิฉัน อาจารย์จตุพรเพิ่งอ่านพบในหนังสือ ตำนานวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา และเห็นว่าเป็นเรื่อง “ชอบ ๆ” “บ้าไม่เลิก” ของพี่สาวคนนี้ ที่นักเขียนนักวิชาการคนอื่นไม่มีใครหมกมุ่นหัวทิ่มหัวตำอยู่กับเรื่องนี้ ประเด็นนี้ อย่างที่ดิฉันเป็นอยู่ ทำอยู่มาหลายสิบปี
นั้นคือเรื่องของ “แม่มด”
ดิฉันได้ข้อมูลจากอาจารย์จตุพร อ่านแล้วดีใจแทบโลดเต้น ชะเอิงเงิงเงยไปเลย เพราะนี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญในการกลมกลืนเสมือนเป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับการปะทะระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านไทยเรื่องการนับถือภูตผีวิญญาณ (animism) ในนาม “แม่มด” กับศาสนาพุทธเถรวาทไทย ที่มาผูกร้อยผสมผสานและชนโครมเปรี้ยงปร้างอยู่ในตำนานการก่อตั้งวัดสังข์กระจาย ริมคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเจ้าหน้าที่จัดการหอสมุดแห่งชาติสมัยก่อนเรียบเรียงไว้
๑. แม่มดสร้างวัด
เรื่องเล่าดำริเริ่มสร้างวัดของชายข้าพระโยมสงฆ์ ผู้มาเห็นชอบร่วมมือร่วมใจกับหญิงแม่มดข้าผีทาสีเจ้า มีเนื้อความหลักอยู่ในหนังสือ ตำนานวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา ดังนี้
“๑๗.วัดสังข์กระจาย ตั้งอยู่ในคลองบางวัวทอง หรือเรียกว่าคลองลำเจียกน้อย เดิมมีตำนานกล่าวว่า นายสังข์เป็นตำแหน่งสารบบ (ในกรมพระสุรัสวดี) ตั้งบ้านเรือนอยู่ในคลองคูเข้าไปประมาณ ๗ เส้น ได้สร้างกุฎีวิปัสสนาไว้หลัง ๑ ในสวนของตน ครั้นต่อมามีหญิงแม่มดคน ๑ ชื่อจ่าย เป็นข้าอยู่ในเจ้าจอมแว่น พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเจ้านายตรัสเรียกกันว่า “คุณเสือ” เป็นผู้ดูแลสวนของเจ้าจอมแว่น ซึ่งมีเนื้อที่ติดต่ออยู่กับที่ของนายสังข์ ออกมาจนถึงคลองบางกอกใหญ่ ปรึกษากับนายสังข์ คิดกันสร้างอุโบสถต่อหลังกุฎีวิปัสสนาของนายสังข์ แล้วแม่มดจ่ายจึงขอความช่วยเหลือจากเจ้าจอมแว่นให้ช่วยสร้างกุฎีสำหรับพระสงฆ์ เจ้าจอมแว่นจึงช่วยสร้างให้ตามความขอร้องของแม่มดจ่าย ครั้นเสร็จบริบูรณ์แล้ว ถึงเวลาจะขอพระราชทานที่วิสุงคามสีมา แม่มดจ่ายกับนายสังข์เกิดแตกต่างกัน ด้วยแม่มดจ่ายก็จะขอนามของตน ฝ่ายนายสังข์ก็จะขอนามของตนเหมือนกัน แม่มดจ่ายจึงได้นำความนั้นเข้าไปเรียนเจ้าจอมแว่น เจ้าจอมแว่นจึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขอพระราชทานที่วิสุงคามสีมา มีพระราชดำรัสว่า วัดที่นายสังข์กับแม่มดจ่ายสร้างนั้น ไม่สมกับเกียรติยศเจ้าจอมแว่น จะสร้างพระราชทานใหม่ จึงมีพระราชดำรัสให้กรมหมื่นไกรสรวิชิต เป็นนายงาน สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่เคียงกับกุฎีพระสงฆ์เดิมตอนข้างตะวันออกเฉียงใต้ หันหน้าไปทางคลองคูบางวัว-ทองเหมือนอย่างของเดิม สร้างกุฎีขึ้นใหม่ตรงพระอุโบสถด้านใต้ กล่าวกันว่าเมื่อแรกขุดรากพระอุโบสถนั้น พบพระกัจจายหน้าตัก ๑๐ นิ้วกับสังข์ ๑ ตัว แต่สังข์นั้นชำรุด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงพระราชทานนามวัดว่า วัดสังกัจจาย ครั้นต่อมาคนเรียกชื่อกลายเป็นวัดสังกระจาย วัดนี้แม้ทรงสร้างพระราชทานเจ้าจอมแว่น ก็โปรดฯ ให้นับเป็นพระอารามหลวงแห่งหนึ่งมาแต่แรกพระราชทาน จึงโปรดฯ ให้พระเทพมุนีไปเป็นเจ้าอาวาส ครั้นล่วงรัชกาลที่ ๑ แล้ว เจ้าจอมแว่นได้ออกมาทำบุญให้ทานอยู่ในวัดนี้ จึงได้ถวายที่สวนของตนทั้งหมดเป็นของวัด”