Image
"พระกบฏ" ในอดีต
scoop
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
คดีพระพิมลธรรม (อาจ) มิใช่ครั้งแรกที่รัฐหรือองค์กรปกครองสงฆ์ดำเนินคดี พระภิกษุหรือปราบปรามพระภิกษุ ทั้งนี้หากนิยามของคำว่า “กบฏ” คือ ก่อการแล้วไม่ได้รับชัยชนะ ได้รับผลกระทบจากการเมือง กรณี “พระกบฏ” เท่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์สยามอาจไล่ลำดับโดยสังเขปได้ดังนี้
เจ้าพระฝาง 
(พากุลเถร/เรือน)

สาเหตุ ตั้งตนเป็นเจ้า 
ปีที่เกิดเหตุ ๒๓๑๐-๒๓๑๓

พระจากหัวเมืองเหนือสอบเปรียญธรรมได้เป็น “มหาเรือน” ลงมาศึกษาพระพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยา ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะอยู่วัดศรีอโยธยา  ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รับพระราชทานตำแหน่งสังฆราชาเมืองสวางคบุรี เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ทัพอังวะ ได้รวบรวมผู้คนตั้งตัวเป็นเจ้าพระฝาง แต่ไม่สึกและนุ่งห่มผ้าสีแดง โดยมีผู้คนในแถบสวางคบุรีมาเข้าด้วยมาก และมีแม่ทัพนายกองเป็นพระภิกษุหลายรูป ต่อมายังรวมเอาชุมนุมเจ้าพิษณุโลกเข้ามาไว้ในอำนาจได้

ชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นชุมนุม (ก๊ก) สุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคลื่อนทัพไปปราบในเดือนสิงหาคม ๒๓๑๓ ในสายตาของกรุงธนบุรี ชุมนุมเจ้าพระฝางคือ “คนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ” ที่คุกคามต่อทั้งศาสนจักรและอาณาจักรกรุงธนบุรีที่เพิ่งก่อตั้งใหม่  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า พระเจ้าตากสินให้ยกทัพขึ้นไปตีเอาพิษณุโลกได้ จากนั้นก็เดินทัพไปยังสวางคบุรี พระเจ้าตากสินทรงเดินทัพออกจากพิษณุโลกได้ ๓ วัน ทัพหน้าก็ส่งข่าวว่าได้เมืองฝาง แต่ “อ้ายเรือนซึ่งคิดมิชอบนั้นหนีไป” และหายสาบสูญ จากนั้นพระเจ้าตากทรงชำระสิกขาบท (บวชใหม่) พระสงฆ์ฝ่ายเหนือครั้งใหญ่หลังศึกครั้งนี้
Image