เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓
คดี “พระพิมลธรรม”
ภาค ๑
scoop
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๙
หลังการอ่านคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพเสร็จสิ้นไม่นาน ที่สนามหญ้าหน้าศาลทหารฯ ในกระทรวงกลาโหมปรากฏพระภิกษุรูปหนึ่งที่มีฝูงชนจำนวนมากมาห้อมล้อมอนุโมทนาสาธุแสดงความยินดี กราบไหว้ บ้างก็จับและลูบชายผ้าเหลืองนั้นด้วยความซาบซึ้ง
พระภิกษุรูปนั้นเพิ่งกลับมาใส่ผ้าเหลือง จากนั้นก็ปรากฏข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “พระมหาอาจ อาสโภ” อดีต “พระพิมลธรรม” กลับคืนสู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ลงอุโบสถกับภิกษุสามเณร เปล่งเสียงสาธุการรับรองความบริสุทธิ์ยืนยันว่าความเป็นสงฆ์มิได้ถูกพรากไปตลอด ๕ ปีที่ถูกขังในคุก
คนจำนวนมากน้ำตาซึม เพราะเป็นเวลายาวนานเกือบ ๕ ปีที่ภิกษุรูปนี้ถูกยัดเยียดสารพัดข้อหา ตั้งแต่ปฐมปาราชิกกระด้างกระเดื่องต่อสมเด็จพระสังฆราช อยู่เบื้องหลังใบปลิวเถื่อนโจมตีคณะสงฆ์ ไปจน “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ที่คนทั้งสังคมยุคกึ่งพุทธกาลรู้กันดีว่าเป็นโทษประหารชีวิตโดยนัย
กระทั่งพยานที่ขึ้นให้การในชั้นศาลก็กล่าวว่า สิ่งที่จำเลยต้องรับ ไม่ว่าจะถูกปลดจากเจ้าอาวาส ถอดสมณศักดิ์ โดนจับกุม คุมขัง บังคับให้สึก “นับว่ารุนแรงที่สุดสำหรับพระเถระผู้ใหญ่ที่ปวงชนเคารพนับถือ”
แต่จริงหรือที่เป็นเคราะห์กรรม กรรมเก่า จริงหรือที่เป็นแค่การ “สร้างบาปกรรม” ของคนมีกิเลสดังที่ศาลทหารกรุงเทพในยุคนั้นสรุปเอาไว้ ดูเหมือนผู้ที่ทราบดีที่สุดคือ “พระมหาอาจ อาสโภ” หนึ่งใน พส. (พระสงฆ์) ผู้ครองสมณศักดิ์ “พระพิมลธรรม” ที่โด่งดังที่สุดรูปหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เพียงแต่เรื่องราวของพระภิกษุรูปนี้ถูกซ่อนไว้ในประวัติศาสตร์
เป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ
บ้านในภาพเป็นส่วนหนึ่งของ “คุ้มดวงมาลา” พื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านโยมพ่อโยมแม่พระพิมลธรรม (อาจ)
“เณรหัวขี้กลาก”
จากภาคอีสาน
ย้อนไป ๖๓ ปีที่แล้ว ก่อนเหตุการณ์ที่ศาลทหารกรุงเทพ
ในหมู่บ้านริมลำน้ำชี ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๓๙ กิโลเมตร เด็กชายคำตา ดวงมาลา ถือกำเนิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ เมษายน ๒๔๔๖ ที่หมู่ ๙ ตำบลบ้านโต้น เมืองขอนแก่น เป็นบุตรคนรองจากทั้งหมดหกคน
ของครอบครัวดวงมาลาที่มีอาชีพเกษตรกร
บ้านโต้นเป็นหมู่บ้านห่างไกล มีประมาณ ๔๐๐ หลังคาเรือน อยู่ห่างจากเมืองหลวงร่วม ๕๐๐ กิโลเมตร การเดินทางไปบ้านโต้นสมัยนั้นทำได้ทางเดียวคือใช้เกวียน หรือเรือล่องไปตามลำน้ำชีแล้วเดินเท้าต่อเข้าตัวหมู่บ้าน ปัจจุบันถ้ามาจากกรุงเทพฯ ต้องใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) จากนั้นเลี้ยวซ้ายก่อนถึงตัวอำเภอเมืองขอนแก่นเข้าถนนสองเลนที่ทอดยาวผ่านลำน้ำชีเข้าถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำ หรือถ้ามาจากตัวเมืองขอนแก่นจะใช้เวลา ๒๐ นาทีบนถนนสายเดียวกัน
ทุกวันนี้อาชีพหลักของคนบ้านโต้นส่วนหนึ่งไม่ต่างจากสมัยก่อน คือเป็นเกษตรกร (ทำนา ทำไร่) และจำนวนหลังคาเรือนก็ใกล้เคียงกับสมัยที่คำตาถือกำเนิดเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้ว เด็กชายคำตาวิ่งเล่นในหมู่บ้านนี้ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “อาจ” หนังสือที่เขียนถึงประวัติคำตาทุกเล่มยืนยันตรงกันว่าเขาเข้าเรียน “หนังสือไทย” (ภาษาไทยภาคกลาง) ที่วัดศรีจันทร์ วัดประจำหมู่บ้าน จน “พออ่านออกเขียนได้แบบโรงเรียนวัดสมัยนั้น ทำเลขบวก ลบ คูณ หาร ได้ ดีดลูกคิดเป็น”
ในปี ๒๕๖๔ ผมพบว่าโบสถ์วัดศรีจันทร์ตั้งอยู่ที่เดิมคือบริเวณทางใต้ของหมู่บ้าน กลายเป็นโบราณสถานที่ทำหน้าที่เป็น “หอพระ” ของตำบลบ้านโต้น ด้านทิศเหนือมีลานอเนกประสงค์กว้างขวางเป็นที่ติดตลาดนัด และที่มุมหนึ่งของลาน เทศบาลตำบลบ้านโต้นสร้างอาคารเป็นที่ทำการชั่วคราว
วัดศรีจันทร์ถูกยกเลิกไปในปี ๒๕๐๙ โดยมีการสร้างวัดใหม่คือ “วัดศรีพิมล” ทำหน้าที่วัดประจำบ้านโต้นแทน แต่โบสถ์นี้ก็ยังคงมีผู้แวะเวียนมากราบพระประธานและชมใบเสมาโบราณเสมอ
ย้อนกลับไปในปี ๒๔๕๙ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม เด็กชายอาจวัย ๑๔ ปี บรรพชาเป็นสามเณรที่อุโบสถนี้ จากนั้นก็เรียน “หนังสือธรรมแบบอักษรภาคอีสาน จารด้วยใบลาน” ควบคู่ ไปกับหนังสือภาษาไทยกลางจน “รู้อักษรอีสาน ภาษาอีสานพอแสดงธรรมได้...รู้ภาษาไทย เลข และลูกคิด พอสอนนักเรียนแทนอาจารย์ได้”
ในยุคนั้น ในดินแดนที่ห่างไกลอย่างภาคอีสาน โอกาสทางการศึกษาที่ดีที่สุดคือวัด
สามเณรอาจใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ ในปี ๒๔๖๑ เข้าร่วมการอบรมสามเณรและภิกษุเพื่อสอนในโรงเรียนประชาบาลและสอบได้ที่ ๔ จากพระเณรที่เข้าอบรม ๑๖๐ รูปเศษ ได้วุฒิเทียบเท่า ม.ศ. ๕ ของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) จนถูกชวนให้สึกเพื่อมาทำงานเป็นครูอย่างจริงจัง แต่เณรอาจตัดสินใจอยู่ในเพศบรรพชิตต่อและไปเป็นครูที่โรงเรียนวัดกลางเมืองเก่า เมืองขอนแก่น ได้รับนิตยภัต (เงินเดือน) เดือนละ ๖ บาท แล้วลาออกในปี ๒๔๖๓ เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาวิชาภาษาบาลีและพุทธศาสนา
การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในสมัยนั้นก็ไม่ง่าย เนื่องจากยังไม่มีถนน เณรอาจต้องเดินเท้ากับพระสงฆ์สองรูป เณรหนึ่งรูป ไปกับ “หมู่เกวียนข้าราชการผู้พิพากษาคนหนึ่งชื่อนายเซีย” เก้าคืนจึงถึงนครราชสีมา จากนั้นจึงต่อรถไฟเข้ามายังหัวลำโพง โดยเณรอาจเล่าว่าตนเป็น “เณรหัวขี้กลาก มาจากภาคอีสาน” มีเงิน ๑๓๓ บาทจากญาติโยมที่เรี่ยไรให้ อย่างไรก็ตามก็ต้องเปลี่ยนแผน จากเดิมตั้งใจไปอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารที่พระเจ้าคณะเมืองขอนแก่นฝากให้ กลับต้องย้ายไปวัดชนะสงครามย่านบางลำพูแทน ด้วยตอนนั้นวัดบวรฯ มีพระเณรมาพักจนเต็ม จากนั้นจึงไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุฯ ย่านท่าพระจันทร์
จนปีต่อมาพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เฮง เขมจารีมหาเถร) อธิบดีสงฆ์ (เจ้าอาวาส) วัดมหาธาตุฯ (องค์ที่ ๑๔) ก็รับเณรอาจประจำกุฏิในคณะ ๒ ของวัด (ระบบการแบ่งพื้นที่กุฏิในวัด คณะหนึ่งเทียบได้กับหนึ่งหมู่บ้าน) ให้คอยอุปัฏฐากและถือเป็นลูกศิษย์รูปหนึ่ง ที่นี่เองเณรอาจได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี ๒๔๖๖
วัดศรีจันทร์ในปี ๒๕๖๔