Image
Image
รวบรวมและเรียบเรียง : ศรัณย์ ทองปาน 
กราบขอบพระคุณ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) 
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าคณะภาค ๖-๗ (ธรรมยุต)  
อาจารย์สุเชาวน์ พลอยชุม มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 
เมตตาเอื้อเฟื้อข้อมูล  และขอขอบคุณ คุณสุภาภรณ์ อัษฎมงคล 
สำหรับความเห็นและข้อท้วงติงอันเป็นประโยชน์

~ ภิกษุและสงฆ์
สงฆ์ มาจากภาษาบาลี สงฺฆ (สังฆะ) แปลว่าหมู่ หรือคณะ

ภิกษุ 
มาจากภาษาบาลี ภิกฺขุ แปลว่าผู้ขอ คือผู้สละตนสละทรัพย์สมบัติจากการครองเรือน (นักบวช) เพื่ออุทิศตนบำเพ็ญธรรม และยังให้ผู้อื่นถึงซึ่งกุศล ด้วยการออกขอภัตตาหารของผู้อื่น

ภิกษุสงฆ์ 
มาจากภาษาบาลี ภิกขุ + สงฺฆ แปลว่าหมู่แห่งผู้ขอ

พระ 
มาจากรากศัพท์ภาษาบาลี วร (วะระ) แปลว่าประเสริฐ

พระสงฆ์ 
มาจากภาษาบาลี วร + สงฺฆ แปลว่าผู้ขออันประเสริฐ

พระภิกษุ 
มาจากภาษาบาลี วร + ภิกฺขุ แปลว่าหมู่แห่งผู้ประเสริฐพระสงฆ์หรือพระภิกษุ ถือเป็นสาวกของพระพุทธองค์ที่ต้องถือวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อันประกอบด้วยศีล ๒๒๗ ข้อ เพื่อยังให้ตนเป็นผู้เจริญ พร้อมกับศึกษาพระธรรมคำสอนให้รู้แจ้ง และยังให้ผู้อื่นเข้าถึงซึ่งพระธรรมนั้นด้วยการเผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่ปุถุชนทั้งหลาย

นิกาย คือคณะนักบวช หรือศาสนิกชนในศาสนาเดียวกันที่แยกเป็นพวกๆ

ในปัจจุบันพระพุทธศาสนามีนิกายใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็น “นิกาย” สองนิกาย ได้แก่ มหายาน หรือนิกายฝ่ายเหนือ (อุตรนิกาย) และ เถรวาท หรือนิกายฝ่ายใต้ (ทักษิณนิกาย) บางทีเรียก “หีนยาน”

ส่วนในประเทศไทย พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกันแยกออกเป็นสองนิกาย แต่เป็นเพียงนิกายสงฆ์ มิใช่ถึงกับเป็นนิกายพุทธศาสนา (คือแยกกันเฉพาะในการปกครองคณะสงฆ์ไทย) ได้แก่ มหานิกาย และ ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งบางทีเรียกเพียงเป็นคณะว่า คณะมหานิกาย และ คณะธรรมยุต

สมเด็จพระสังฆราช เป็นประมุขของสงฆ์ และทรงดำรงตำแหน่ง “สกลมหาสังฆปริณายก” คือผู้เป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ อันหมายถึง

คณะมหานิกาย คือคณะสงฆ์ไทยดั้งเดิม สืบเนื่องมาจากสมัยสุโขทัย ชื่อนี้ใช้เรียกเมื่อเกิดมีคณะธรรมยุตขึ้นภายหลัง 

คณะธรรมยุต คณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นภิกษุในรัชกาลที่ ๓ เรียกว่าธรรมยุตติกา หรือธรรมยุติกนิกาย ก็มี

คณะสงฆ์อนัมนิกาย เป็นคณะสงฆ์นิกายมหายาน ที่สืบมาจากประเทศเวียดนาม (หรืออันนัม) ในทางการปกครองมีเจ้าคณะใหญ่คณะอนัมนิกายเป็นประธาน

คณะสงฆ์จีนนิกาย เป็นคณะสงฆ์นิกายมหายานของชาวไทยเชื้อสายจีน ในทางการปกครองมีเจ้าคณะใหญ่คณะจีนนิกายเป็นประธาน
~ พระสงฆ์ลดลง แต่วัดเพิ่มขึ้น 
พระสงฆ์และอาราม

ตามข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อสิ้นปี ๒๕๖๓ ประเทศไทยมีพระสงฆ์ ๒๐๕,๕๓๙ รูป 
สามเณร ๓๓,๕๑๐ รูป วัด ๔๒,๖๒๑ วัด
แบ่งเป็นพระสงฆ์มหานิกาย ๑๘๑,๕๔๔ 
ธรรมยุติกนิกาย ๒๓,๙๐๗ บรรพชิตจีนนิกาย ๒๔ 
บรรพชิตอนัมนิกาย ๖๔ วัดมหานิกาย ๓๘,๒๙๓ 
วัดธรรมยุต ๔,๒๙๐ วัดจีนนิกาย ๑๕ 
วัดอนัมนิกาย ๒๓

จังหวัดที่มีพระสงฆ์มากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร 
(๑๔,๗๒๙ รูป ใน ๔๕๗ วัด)
จังหวัดที่มีพระสงฆ์น้อยที่สุดคือสตูล (๒๕๑ รูป ใน ๔๓ วัด)
จังหวัดที่มีวัดมากที่สุดคือนครราชสีมา (๒,๑๗๘ วัด) 
จังหวัดที่มีวัดน้อยที่สุดคือภูเก็ต (๔๑ วัด)

ในหนังสือ สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย ของพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์เป็นที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ระบุข้อมูลว่าในปี ๒๕๐๗ จำนวนพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศคือ ๒๓๗,๗๗๐ รูป เทียบกับประชากรทั้งประเทศขณะนั้น ๒๘ ล้านคน  เมื่อเทียบกับข้อมูลล่าสุดจะเห็นว่าย้อนหลังไปเกือบ ๖๐ ปี จำนวนพระสงฆ์ค่อนข้างคงที่ คืออยู่ระหว่าง ๒-๓ แสนรูป ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เช่นข้อมูลปี ๒๕๖๓ ระบุว่าประเทศไทยมีประชากร ๖๙.๘ ล้านคน เมื่อคำนวณออกมาเป็นตัวเลขพบว่าสัดส่วนจำนวนพระภิกษุสามเณรต่อจำนวนประชากรลดลงกว่าเท่าตัว คือจาก ๑ : ๑๑๗ ในปี ๒๕๐๗ เหลือ ๑ : ๒๙๓ ขณะที่มีการตั้งวัดใหม่ตลอดเวลา จากข้อมูลย้อนหลังภายในเวลาไม่ถึง ๑๐ ปีมานี้ มีวัดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า ๔๐๐ วัดต่อปี ซึ่งย่อมทำให้จำนวนพระสงฆ์เฉลี่ยในแต่ละวัดลดน้อยลงเป็นลำดับ
Image
Image