Image

Bio-technology
เทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ 
“เมื่อมนุษย์
สวมบทพระเจ้า” EP.01

scoop

เรื่อง : ผศ. ดร. ป๋วย อุ่นใจ

คลิป TED Talks “Watch me unveil Synthetic life” ของ เครก เวนเตอร์ (Craig Venter) นักวิจัยระดับตำนานแห่งวงการจีโนมผู้เคยขึ้นปกแทบทุกนิตยสารชั้นนำ มีคนดูแล้วกว่า ๑.๓ ล้านครั้ง และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง ๒๕ ภาษา (แต่ยังไม่มีภาษาไทย)

“เรามากันในวันนี้ เพื่อประกาศถึงเซลล์สังเคราะห์เซลล์แรกที่เริ่มขึ้นจากรหัสดิจิทัลในคอมพิวเตอร์ สร้างโครโมโซมจากสารเคมีแค่สี่ขวดประกอบเป็นโครโมโซมในยีสต์แล้วปลูกถ่ายในเซลล์ของแบคทีเรียเพื่อเปลี่ยนให้เซลล์นั้นกลายเป็นแบคทีเรียสปีชีส์ใหม่ของโลกนี่คือสปีชีส์แรกที่เกิดขึ้นบนพื้นพิภพที่สืบเชื้อสายมาจากคอมพิวเตอร์และเป็นสปีชีส์แรกที่มีเว็บไซต์ของตัวเองเข้ารหัสอยู่ในรหัสพันธุกรรม”

การเปิดตัวงานวิจัยใหม่ของเครกทำให้ผู้คนตกตะลึง

วารสาร ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ถึงขนาดพาดหัวว่า “ในที่สุดมนุษย์ก็สร้างชีวิต (And man made life)” - ในเวลานี้ไม่ใช่เพียง พระเจ้าเท่านั้นที่สร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ ขึ้นมา แค่มนุษย์ขี้เหม็นที่ไม่ได้เป็นอมตะก็ทำได้เช่นกัน

Image

Craig Venter
https://www.britannica.com/biography/J-Craig-Venter

Image

นิตยสาร The Economist 

เครกเป็นข่าวใหญ่มาหลายต่อหลายครั้ง เขาคือหนึ่งในป๊ะป๋าของวงการจีโนม และเป็นแรงผลักเบื้องหลังของโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ อภิมหาเมกะโปรเจกต์งานวิจัยทางชีววิทยาในตำนานที่กินเวลายาวนาน อีกทั้งยังใช้ผู้เชี่ยวชาญและงบประมาณบานตะไท ที่ในตอนนี้ได้เปลี่ยนวงการเทคโนโลยีชีวภาพไปแบบที่ไม่มีใครเลยจะจินตนาการถึง

เครกคือผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยจีโนม TIGR (The Institute for Genomic Research) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๒ 

สมัยเมื่อโครงการถอดรหัสจีโนมมนุษย์ยังเป็นวุ้นอยู่ เครกและเพื่อนร่วมงานระดับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล แฮมิลตัน โอ. สมิท (Hamilton O. Smith) วางรากฐานการหาลำดับและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจีโนมของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ แล้ว ทีมวิจัยของ TIGR ถอดรหัสพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตไว้มากมาย ทั้งแบคทีเรียและไวรัสก่อโรค เห็ดรา สัตว์ พืช รวมไปถึงโปรโตซัวสำคัญอีกหลายชนิด

แฮมิลตันคือนักวิทยาศาสตร์ในตำนาน เขาคือหนึ่งในผู้ค้นพบเอนไซม์ตัดจำเพาะ (restriction enzyme) ร่วมกับ เวอร์เนอร์ อาร์เบอร์ (Werner Arber) และ แดเนียล นาทานส์ (Daniel Nathans)

เอนไซม์ตัดจำเพาะทำงานเปรียบเสมือนกรรไกรที่จดจำและเข้าตัดสายดีเอ็นเอที่มีรหัสจำเพาะ เอนไซม์ตัดจำเพาะแต่ละชนิดจะตัดสายดีเอ็นเอที่รหัสจำเพาะแตกต่างกันไป  การค้นพบเอนไซม์ตัดจำเพาะจึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับแต่งพันธุกรรม ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มที่จะออกแบบวิธีการตัดต่อสายดีเอ็นเอตามต้องการ จนสามารถตัดยีนจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งมาต่อกับยีนของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง สร้างเป็นสายดีเอ็นเอลูกผสม (recombinant DNA) ได้

และนี่คือต้นกำเนิดของศาสตร์ที่เรียกว่า “พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering)”

Image
Image
Image

จากซ้าย : Hamilton O. Smith, Werner Arber, Daniel Nathans

Image