AI
Artif icial Intelligence
“โอเค มนุษย์ ตอบคำถามต่อไปนี้”
EP.01
scoop
Artificial…เทียม
Intelligence…สติปัญญา
Artificial Intelligence…
สติปัญญา - เทียม ?
A
B
> Human or AI ?
“โอเค มนุษย์ สองภาพนี้คุณคิดว่าภาพไหนมนุษย์วาดและภาพไหน AI วาด ภาพ A หรือภาพ B ?”
“ดูดี ๆ เก็บคำตอบไว้ในใจ เรามาเข้าคำถามต่อไป ฟังบทสนทนาการจองโต๊ะกับร้านอาหารทางโทรศัพท์นี้”
(ตื๊ด...เสียงสัญญาณโทรศัพท์… A รับสาย)
A : May I help you ?
B : Hey. Calling to make a reservation.
I am looking for a table on Friday
the fourth.
A : This Friday ?
B : Yeah.
A : Uh-huh. Let me see.
B : Uh-huh.
A : So how many people ?
B : For two people.
A : For two ?
B : Yes.
A : And what time you will come ?
B : At seven PM.
A : Seven. May I have your name ?
B : Ah. First name is Yaniv Y A N I V.
A : OK. I got it. So you will be
two people at seven o’clock.
B : Yes. Uh-huh.
A : OK. I got it. Thank you.
B : OK. Awesome. Thanks a lot.
A : Thank you and good night.
Bye.
B : OK. Bye bye.
“โอเค มนุษย์ บทสนทนาระหว่าง A กับ B นี้
คุณคิดว่าใครเป็นมนุษย์ และใครเป็น AI
A หรือ B ? เก็บคำตอบไว้ก่อน”
คำถามที่คุณลองเล่นไปนี้ตั้งใจเลียนแบบการทดสอบที่เรียกว่า Turing test ตั้งตามชื่อผู้คิดค้นซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ที่คุณน่าจะเคยได้ยินชื่อมาก่อน เขาคือ อลัน ทัวริง (Alan Turing) ผู้ไขรหัสลับอีนิกมา (Enigma) ที่ซับซ้อนที่สุดของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความปราดเปรื่องของทัวริงทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรล่วงรู้แผนการโจมตีและการเคลื่อนไหวของเยอรมนี จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่พลิกฝ่ายสัมพันธมิตรให้กลับมามีชัยชนะเหนือฝ่ายอักษะ
ทัวริงยังถือเป็นบิดาของคอมพิวเตอร์ และ artificial intelligence เพราะเขาเป็นเจ้าของไอเดีย Turing Machine อันเป็นแนวคิดรากฐานของเครื่องคำนวณซึ่งทำตามชุดคำสั่งและข้อมูล จนกระทั่งพัฒนาต่อมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ชุดคำสั่งนี้เรียกอีกอย่างว่า “อัลกอริทึม” (algorithm)
คำนี้อาจฟังดูยากสำหรับคนนอกวงการ แต่อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า อัลกอริทึมคือคำสั่งที่บอกเป็นลำดับขั้นตอนชัดเจนในการคำนวณ ทำงาน หรือแก้ปัญหา ทุกอย่างที่คุณทำอยู่ในชีวิตปรกติก็อาจเรียกให้ดูเนิร์ด ๆ ได้เช่นกันว่าอัลกอริทึม เช่น ขั้นตอนการทำครัวซ็อง ก็คืออัลกอริทึมของการทำครัวซ็อง ขั้นตอนการวาดภาพสีน้ำก็คืออัลกอริทึมของการวาดภาพสีน้ำ ขั้นตอนการปลูกข้าวคืออัลกอริทึมของการปลูกข้าว
แน่นอนว่าในคอมพิวเตอร์หรือมือถือที่คุณใช้งานอยู่ประจำนั้น ล้วนมีอัลกอริทึมซ่อนอยู่เบื้องหลังในแทบทุกอย่าง ตั้งแต่โปรแกรมออฟฟิศอย่างเวิร์ด เอกซ์เซล ไปจนถึงแอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ
Turing test ก็อาจเป็นอัลกอริทึมหนึ่ง โดยใน ค.ศ. ๑๙๕๐ อลัน ทัวริง ดัดแปลงจากเกมลอกเลียนที่เรียกว่า imitation game ซึ่งให้คนสามคนเข้าห้องแยกกันคนละห้อง คนหนึ่งจะต้องตัดสินว่าอีกสองคนเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายจากการสนทนาโต้ตอบกันผ่านการพิมพ์ข้อความที่แสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ผู้หญิงต้องพยายามหลอกคนตัดสินว่าตนเองเป็นผู้ชายให้ได้ (ภาพยนตร์เล่าชีวประวัติของทัวริงที่แสดงโดย เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ก็ตั้งตามชื่อเกมนี้)
ส่วน Turing test จะตัดสินว่า AI นั้นฉลาดคล้ายมนุษย์หรือไม่ โดยให้คนตัดสินตั้งคำถามคุยอะไรก็ได้กับอีกสองฝ่าย (ซึ่งเป็นมนุษย์กับเครื่องที่อยู่แยกกันฝ่ายละห้อง) ให้เวลาและพิมพ์คีย์-บอร์ดถาม-ตอบกันได้จำนวนหนึ่ง แล้วคนตัดสินต้องพิจารณาจากข้อความสนทนาว่าฝ่ายไหนเป็นมนุษย์ ฝ่ายไหนเป็นเครื่องหรือ AI ทดสอบหลาย ๆ ครั้งเพื่อดูสถิติ ถ้าคะแนนเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่คนตัดสินแยกผิดว่าฝ่ายที่โต้ตอบอยู่ด้วยคือมนุษย์ ทั้งที่เป็น AI ก็แสดงว่าเครื่องนั้นมี human-like intelligence หรือความสามารถที่ดูคล้ายมนุษย์
Alan Turing
AI ที่ผ่าน Turing test “หลอกมนุษย์” ได้สำเร็จครั้งแรกชื่อ ELIZA สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๖ มาถึงยุคนี้เราอาจถือได้ว่า ELIZA เป็น “แชตบอต” (chatbot) หรือหุ่นสนทนาตัวแรกของโลก ซึ่งเดี๋ยวนี้ใครที่ชอบสั่งซื้อของออนไลน์ หรือใช้บริการออนไลน์ของหน่วยงาน ธนาคารก็อาจเคยโต้ตอบกับแชตบอตกันบ่อย ๆ
ELIZA มีชุดบทสนทนาที่ใส่ไว้ให้เครื่องจำไว้แล้ว และจะทวนคำพูดหรือป้อนคำถามย้อนกลับให้คู่สนทนาคล้ายนักจิตบำบัด แต่โดยความจริง ELIZA ไม่เข้าใจความหมายใด ๆ ในบทสนทนานั้นอย่างที่มนุษย์เข้าใจเลย
AI ในยุคหลายสิบปีก่อนนั้นออกแบบให้ทำตามอัลกอริทึมที่โปรแกรมเมอร์กำหนดไว้แล้ว โดยพยายามท้าทายโจทย์ที่คิดว่าเป็นตัวแทนสติปัญญาของมนุษย์ เช่น การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เกมเชิงตรรกะ หมากรุก ฯลฯ แต่เนื่องจากยังถูกจำกัดด้วยศักยภาพของคอมพิวเตอร์ซึ่งกว่าจะพัฒนาขึ้นอย่างมากก็เมื่อเข้าสู่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๘๐ แล้ว
แต่ในที่สุดหลังจากพยายามปั้น AI ให้เล่นหมากรุกมานาน คอมพิวเตอร์ IBM Deep Blue ก็สามารถรุกฆาตล้มแชมป์โลก แกรี แคสปารอฟ (Gary Kasparov) ได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๙๗ และไม่นานมานี้เครื่อง AlphaGo ของบริษัท Deep Mind (ตอนหลัง Google ซื้อบริษัทไปแล้ว) ก็เอาชนะเซียนกระดานโกะอันดับ ๑ เค่อเจี่ย (Ke Jie) ได้ทั้งสามเกม และทำให้เครื่อง AlphaGo ได้ระดับ “๙ ดั้ง” ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดของคนเล่นโกะมืออาชีพใน ค.ศ. ๒๐๑๗
อย่างไรก็ตามทั้ง ELIZA Deep Blue และ AlphaGo ยังเป็น AI ที่เดินต้อย ๆ ตามอัลกอริทึมสำเร็จรูปโดยจดจำข้อมูลหรือสูตรการเล่นเกมที่ป้อนเข้าไปให้โดยมนุษย์ มันเพียงเลือกแสดงออกตามเอาต์พุต (output) ของผลการคำนวณทางเลือกที่เปรียบเทียบแล้วคิดว่าดีที่สุด
ปัญญาที่เอาชนะในเกมของมนุษย์จึงมาจากพลังของการคำนวณ ความเร็ว และการจดจำข้อมูลที่มนุษย์ป้อนไว้ให้ล่วงหน้า ยังไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง
AI หรือระบบอัตโนมัติในยุคแรก ๆ ก็ใช้อัลกอริทึมแบบสำเร็จรูปนี้ เช่น ระบบขับเครื่องบินอัตโนมัติ (autopilot) ในเครื่องบินที่มีมานานแล้ว หุ่นยนต์ของเล่นรุ่นแรก ๆ หรือหุ่นยนต์ทำความสะอาดพื้นห้องใน ค.ศ. ๑๙๙๗ ปีเดียวกับที่ AlphaGo เป็นแชมป์หมากรุกโลกนั้น มีนักคอมพิวเตอร์ศาสตร์ที่เสนออัลกอริทึมซึ่งทำให้ AI “เรียนรู้” ด้วยตนเองขึ้นแล้ว แต่งานวิจัยอัลกอริทึมนี้ถูกปฏิเสธโดยสถาบันชั้นนำอย่าง MIT ทุกวันนี้อัลกอริทึมนั้นถูกใช้อย่างแพร่หลายในแพลตฟอร์มของกูเกิล ไอโฟน แอมะซอน ฯลฯ