Dune 45 เนินทรายสีแดงขนาดใหญ่ สูงกว่า ๑๗๐ เมตร เป็นจุดไฮไลต์ที่ต้องเดินขึ้นมาชมพระอาทิตย์ขึ้น

Namibia
Where the Tree 
Upside Down

scoop

เรื่องและภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

ดินแดนแห่งธรรมชาติ ทะเลทรายเก่าแก่ทอดยาวขนานมหาสมุทรแอตแลนติก ต้นไม้กลับหัวหน้าตาแปลกประหลาด ผืนแผ่นดินสีขาวกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ดินแดนที่เหมือนดาวอังคาร กลุ่มคนผมแดงกล่าวคำทักทายด้วยภาษาที่มีเอกลักษณ์ เมืองผีสิง ผมแทบไม่เชื่อเหมือนกันว่าผมจะได้เห็นสิ่งอัศจรรย์เหล่านี้ด้วยสองตาตัวเองในชีวิตนี้

กว่า ๑๖ ชั่วโมงในการเดินทาง เครื่องบินที่ผมนั่งก็เริ่มเข้าสู่ภูมิประเทศแปลกตา ภูเขายอดตัดทุกอย่างถูกโอบล้อมด้วยดินและหินสีน้ำตาล มีเพียงสีเขียวเล็กน้อยจากต้นไม้ที่ขึ้นเป็นหย่อมช่วงที่เครื่องบินกำลังจะลงจอด มีฝูงเก็มส์บ็อก (Gemsbok) เขายาววิ่งกันจ้าละหวั่นไปทางทิศเดียวกับเครื่องบิน 

น า มิ เ บี ย (Namibia) มีประชากรราว ๒ ล้านคน อยู่อาศัยในพื้นที่กว่า ๘ แสนตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบสองเท่า เฉลี่ยแล้วใน ๑ ตารางกิโลเมตรมีประชากรอยู่แค่เพียงสองถึงสามคน ที่เหลือเป็นพื้นที่ของธรรมชาติและสัตว์ป่า

ที่สนามบิน ผมเช่ารถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อสี่ประตู พร้อมอุปกรณ์แค้มปิงเต็มคัน เกือบตลอดการเดินทางผมต้องใช้ชีวิตกินนอนอยู่บนรถคันนี้ เส้นทางมุ่งตรงลงทางใต้สุดสู่ดินแดนแห่งทะเลทรายแล้วค่อยลัดเลาะชายฝั่งตะวันออกของแอตแลนติกขึ้นไปที่ราบสูงทางเหนือวกกลับมาที่ตอนกลางของประเทศอีกครั้ง 

Image

ต้นไม้กลับหัว

ห่างจากเมือง Keetmanshoop ราว ๑๐ กิโลเมตร ผมนั่งอยู่ในความมืดมิด ท่ามกลางความหนาวเย็นในช่วงต้นฤดูหนาว มองแสงดาวระยิบระยับนับล้านพร่างพราวบนท้องฟ้าอย่างสงบ เฝ้ารอให้บางอย่างปรากฏ

ฟ้าเริ่มเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีน้ำเงิน แสงดวงดาวค่อย ๆ เลือนหาย ปรากฏภาพลำต้นอวบ แขนงกิ่งหักงอชี้ขึ้นฟ้า ใบรูปทรงแหลมชี้พุ่งตรงยังยอด ราวกับใครจับต้นไม้หัวทิ่มดินรากชี้ฟ้า 


มันคือต้นควิเวอร์ (Quiver tree) พืชวงศ์ว่านหางจระเข้ขนาดยักษ์
ออกดอกสีเหลืองเป็นช่อรีคล้ายลูกรักบี้อยู่ปลายยอด ผมเห็นนก แมลงแวะเวียนมาลิ้มลองน้ำหวานอย่างไม่ขาดสาย ราวกับร้านเครื่องดื่มชั้นเลิศท่ามกลางทะเลทรายอันแห้งแล้ง

ไม่ใช่แค่เพียงต้นเดียว แต่นี่คือป่าควิเวอร์ในพื้นที่เอกชนซึ่งเป็น
เขตสงวนพันธุ์ต้นควิเวอร์ต้นใหญ่สูงกว่า ๔ เมตร อายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี แพร่กระจายเฉพาะพื้นที่ในแถบประเทศนามิเบียและแอฟริกาใต้เท่านั้น ต้นควิเวอร์ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำประเทศนามิเบียอีกด้วย

Quiver tree หลายต้นกำลังชูช่อออกดอกในช่วงปลายเดือนมิถุนายน

Image

Image
Image

Kolmanskop เมืองผีสิง

นามิเบียเคยถูกยึดครองเป็นประเทศอาณานิคมหลายครั้งจนได้รับเอกราชใน ค.ศ. ๑๙๙๐ ผู้คนที่ครอบครองดินแดนแถบนี้อยู่ก่อนล้วนเป็นชาวชนเผ่าพื้นเมือง  เมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองนามิเบียช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็ได้สร้างเหมืองเพชรคอลมันสค็อพ (Kolmanskop) ขึ้นกลางทะเลทราย ใกล้กับเมืองลือเดอริทซ์ (Lüderitz) เมืองท่าสำคัญ รวมทั้งสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเพื่อความสะดวกในการลำเลียงทรัพยากรจากดินแดนแถบนี้กลับไปประเทศของตนเอง

Image

ท่ามกลางความแห้งแล้งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ฝูง Springbok กำลังกินหญ้าแห้ง  พวกมันสามารถดำรงชีวิตได้เพียงแค่รับน้ำจากพืชอาหารที่กิน 

Namib 
ทะเลทรายเก่าแก่ที่สุดในโลก

คำว่า Namib มาจากภาษา Khoekhoegowab ของชาวพื้นเมือง แปลว่า vast place หรือดินแดนอันกว้างใหญ่ ทะเลทรายแห่งนี้กินพื้นที่ราว ๘ หมื่นตารางกิโลเมตร ทอดยาว ๒,๐๐๐ กิโลเมตรเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

มันเป็นทะเลทรายอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงแห้งแล้งมายาวนานกว่า ๕๕ ล้านปี มีฝนตกน้อยมาก ปริมาณน้ำฝนรวมตลอดปีเพียงแค่ ๑๐ มิลลิเมตร เนื่องจากอากาศที่แห้งและร้อนทางหุบเขาตะวันออกลอยตัวสูงป้องกันอากาศเย็นชื้นก่อตัวเป็นเมฆ มีเพียงแหล่งน้ำใต้ดินกับความเย็นและชื้นของหมอกควบแน่นเป็นน้ำค้างจับตัวบนพืชที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายเป็นน้ำหล่อเลี้ยงแก่สิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวอยู่รอดได้อย่างพิเศษ

Image