แซนซิบาร์ประกอบด้วย เกาะใหญ่สุดคืออันกูจา (Unguja) และเกาะเล็กเกาะน้อยรอบๆ ปัจจุบันแซนซิบาร์เป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศแทนซาเนีย
Zanzibar
Island of Mankind
scoop
เรื่องและภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หลังจากการสั่งสมอารยธรรมถูกย่นย่อไว้ในเกาะเล็ก ๆ ชื่อ แ ซ น ซิ บ า ร์ อันอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้เขียวขจี ล้อมรอบด้วยแนวปะการังและทะเลสีครามแห่งมหาสมุทรอินเดีย
Zanzibar มาจากคำว่า Zinj el Barr อันมีความหมายว่า “ชายฝั่งของคนผิวดำ” หลายพันปีก่อน ชาวกรีก โรมัน อียิปต์โบราณ ล้วนเคยเดินทางมาถึง ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของเกาะซึ่งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่เพียงราว ๓๐ กิโลเมตร และอยู่เกือบกึ่งกลางของแนวชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา เกาะแซนซิบาร์จึงเป็นเมืองหน้าด่าน จุดพักพิง และแหล่งน้ำของบรรดาผู้คนหลากเชื้อชาติซึ่งล่องเรือมาจากแดนไกล ทั้งอาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย และจีน เพื่อนำสินค้ามาติดต่อค้าขายกับชุมชนบนแผ่นดินชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก อารยธรรมที่ผสมผสานความเป็นแอฟริกันและอาหรับในนาม “สวาฮิลี” (Swahili) กำเนิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทวีปนี้ตั้งแต่เมื่อราว ๑,๘๐๐ ปีก่อน และได้ให้กำเนิดภาษาสวาฮิลีซึ่งทุกวันนี้เป็นภาษากลางหรือภาษาราชการที่ใช้กันในประเทศเคนยา แทนซาเนีย ยูกันดา และโมซัมบิก
บนเกาะแซนซิบาร์ ร่องรอยของวัฒนธรรมสวาฮิลียังคงถูกเก็บรักษาไว้ในสถาปัตยกรรมของเขตเมืองเก่าที่เรียกว่า Stone Town ซึ่งอาคารส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยหินปะการังเป็นส่วนผสมหลัก และด้วยความนิยมนับถือศาสนาอิสลามของสวาฮิลี หน้าบ้านแต่ละหลังจึงมักทำเป็นที่นั่งยาวสำหรับรับแขก เนื่องจากไม่นิยมให้แขกเข้าบ้านไปพบเห็นหญิงสาวในบ้านที่มิได้ปิดใบหน้า ส่วนบนชั้น ๒ ชั้น ๓ ก็อาจมีสะพานเชื่อมระหว่างอาคารให้หญิงสาวเดินไปเยี่ยมเพื่อนบ้านโดยไม่ต้องลงมาเดินบนถนนเป็นเป้าสายตาของใคร