Image

กบฏชาวบ้าน
และต้นแบบรัฐไทยผู้มีบุญ
รองศาสตราจารย์
ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Interview

สัมภาษณ์ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ถ่ายภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“เป็นครั้งแรกที่ผมถูกกระตุ้น
ให้เห็นเหตุการณ์ครั้งนี้”

รองศาสตราจารย์ ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เล่าถึงวันหนึ่งเมื่อกลางปีที่แล้ว คราวได้รับเชิญไปร่วมเสวนา “เรื่องเล่าบ้านสะพือ : ทุ่งสังหารผีบุญ” ที่ได้จุดประกายความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสานครั้งสำคัญนั้นขึ้นในใจเขา

“มีคนถูกฆ่าพร้อมกัน ๓๐๐ กว่าคน นี่เป็นการตายครั้งสำคัญในการผนวกอีสานให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนกรุงเทพฯ  นี่เป็นการฆ่าเพื่อยึดครองจริง ๆผมคิดว่าผมมองข้ามเหตุการณ์นี้มา คือไม่เคยถูกบอกเล่ามาก่อน”

บทสนทนาถัดจากนี้เป็นภาคต่อมาหลังจากการศึกษาค้นหาหลักฐานจากเอกสารที่มีบันทึก และลงลึกศึกษาจากงานวิจัยของนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่มีทำไว้หลายชิ้นในช่วงหลายสิบปีมานี้  วิเคราะห์เชื่อมโยงกับบริบททางสังคมการเมืองในยุคสมัยนั้น เหมือนเป็นการปะติดปะต่อจิ๊กซอว์แต่ละตัวเข้าเป็นภาพใหญ่  และที่สำคัญคือการ “คิดต่อ” เพื่อจะเข้าใจอย่าง “รอบด้าน” ต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ทางการเมืองครั้งใหญ่ในอีสาน ที่คล้ายถูกทำให้หายไปจากความรับรู้ของคนรุ่นหลัง

ขบวนการผู้มีบุญจากปากคำของอาจารย์ธำรงศักดิ์จึงไม่ใช่เพียงเรื่องเล่า แต่เป็นคล้ายการชวนอ่านความนัยแต่ละช่วงตอนของเหตุการณ์และในใจความตามที่เอกสารสมัยนั้นบันทึกไว้

เรื่องราวเกี่ยวกับ “ผู้มีบุญ” ในบทสนทนานี้เป็นเสียงเล่าในมุมมองเฉพาะที่ผู้อ่านก็คงต้องคิดวิเคราะห์ต่อด้วย

◆ ชาวบ้านเรียกคนกลุ่มนี้ว่าผู้มีบุญ ผู้ปกครองแห่งกรุงเทพฯ เรียกคนกลุ่มนี้ว่าผีบุญ เป็นกบฏ ◆

กบฏผีบุญ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสานบ้านเกิดของตัวเอง หลงรอดสายตานักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ธำรงศักดิ์ ไปได้อย่างไรครับ

เป็นไปได้ว่าวิธีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของเราเป็นการสอนว่าด้วยศูนย์อำนาจส่วนกลางที่เราถูกทำให้มองข้ามเหตุการณ์หรือรายละเอียดที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ถูกทำให้ลืมถูกทำให้ไม่มีความสำคัญ เพราะผู้ตายเป็นเพียงชาวบ้าน

ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแบบรัฐส่วนกลาง เมื่อเราไม่เคยได้ประมวลไว้ว่ารัฐทำความรุนแรงกับประชาชน เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร ตลอดศตวรรษขึ้นเลย เราไม่มีแผนภาพนี้เลย

ทำไมเรื่องนี้ไม่มีอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ครับ

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความสำเร็จของอำนาจรัฐ ที่เราเรียนมาตลอดคือความสำเร็จของการสร้างรัฐ อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ความสำเร็จของการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ ๕ เป็นประวัติศาสตร์แห่งอำนาจของศูนย์กลาง

ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ หากว่าไปดูในตำราเรียน เราแทบไม่เห็นเลยว่าเกิดการปะทะกันทางทหารที่ไหน อย่างไร เกิดผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนอย่างไร  ถ้าเกิดว่าไม่มีฝรั่งที่เป็นเชลยศึกเข้ามารื้อฟื้นสะพานข้ามแม่น้ำแควกับทางรถไฟสายมรณะ กาญจนบุรี ผมคิดว่าวิชาประวัติศาสตร์ไทยก็จะไม่ได้กล่าวถึงมันแน่ ๆ เลย

Image

ถ้าเป็นในส่วนกลางล่ะครับ ความรุนแรงที่รัฐเคย ทำกับประชาชนได้รับการประมวลไว้ไหม

ผมนึกถึงงานของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน บ้านเมืองของเราลงแดง ประโยคแรก ๆ ของอาจารย์เบนคือ การฆาตกรรมทางการเมืองมันเป็นเอกลักษณ์ของรัฐไทย  อาจารย์เบนพยายามที่จะบอกว่า การฆาตกรรมนักศึกษาประชาชน ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ทำไมรัฐไทยมันถึงกล้าทำ  ทำให้ผมมองเห็นเพิ่มขึ้นว่า เฮ้ย...ไม่ใช่แค่ ๖ ตุลาคมนะ ๑๔ ตุลาคมก็ใช้กองกำลังทหารฆ่าคนบนถนนราชดำเนินนะ ทั้งทหารทั้ง M16 ทั้งรถถังที่ออกมาตรงถนนราชดำเนิน  ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นครั้งที่ ๒  พฤษภาคม ๒๕๓๕ เป็นครั้งที่ ๓  เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นครั้งที่ ๔  ภาพที่ผมเริ่มมองเห็นคือรัฐไทยฆ่าประชาชนกลางเมืองด้วยอาวุธสงครามอย่างไม่แคร์มาสี่ครั้งใหญ่ ๆ เพื่อรักษาสถานะทางอำนาจและผลประโยชน์  ตามคำของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน คือรัฐไทยสามารถฆาตกรรมทางการเมืองต่อประชาชนอย่างเป็นแบบแผนได้อย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลา

Image