Image
Image
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เทียบจากแผนที่ในปัจจุบัน แทบไม่มีจังหวัดใดเลยในอีสานที่ไม่มีผู้มีบุญ แต่เมื่อพูดถึงผีบุญ คนจะนึกถึงกลุ่มองค์มั่นที่อุบล อาจเพราะเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดถูกปราบอย่างรุนแรงที่สุด มีคนล้มตายหลายร้อยจนกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อีสาน

แต่ความจริงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นยังมีกลุ่มผู้มีบุญเกิดขึ้นในที่อื่น ๆ ตามหัวเมืองในอีสานอีกนับร้อย  มีผู้นำที่ประกาศจะนำชาวบ้านที่เชื่อถือศรัทธาไปสู่โลกพระศรีอาริย์ หรือพระศรี
อริยเมตไตรย โดยส่วนใหญ่มุ่งเป้าหมายทางสังคมในการมีชีวิตที่ดี พ้นจากความยากแค้นขัดสน  แต่บางกลุ่มยังเชื่อมโยงถึงเป้าหมายทางการเมืองการปกครองด้วย จึงถูกทางการสยามขานนามคนตั้งตนเป็นผู้วิเศษหรือผู้มีบุญเหล่านั้นไปแบบเหมารวมว่า “กบฏผีบุญ” คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกกับผู้มีบุญกลุ่มอุบลที่นำโดยองค์มั่น  ขณะที่กบฏผู้มีบุญกลุ่มอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นมักถูกเรียกขานตามชื่อผู้นำ

เฉพาะในช่วงปี ๒๔๔๔-๒๔๔๕ มีผู้มีบุญที่ถูกทางการกวาดจับได้ไม่ต่ำกว่า ๖๐ คน ใน ๑๓ เมือง ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม บุรีรัมย์ อุดรธานี จังหวัดละ ๑ คน ร้อยเอ็ดและสกลนคร จังหวัดละ ๓ คน  กาฬสินธุ์และสุรินทร์ จังหวัดละ ๔ คน  นครราชสีมา ๕ คน  มหาสารคาม ๑๐ คน ศรีสะเกษและอุบลราชธานี จังหวัดละ ๑๓ คน หนองคายไม่มีผู้นำ


แต่หากนับจากปี ๒๒๔๒ ที่เกิดกบฏบุญกว้าง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการผู้มีบุญในอีสาน จนถึงกบฏศิลา วงศ์สินเมื่อปี ๒๕๐๒  ขบวนการผู้มีบุญในอีสานเกิดขึ้น ๙ ครั้งใหญ่ ๆ ในรอบ ๒๖๐ ปี
Image
Image
เป็นความปรารถนาของคนลาวที่จะพ้นอำนาจรัฐสยาม ผู้นำเป็นคนลาวชื่อบุญกว้าง อ้างตัวเป็นผู้มีบุญ ตั้งตัวเป็นใหญ่ซ่องสุมผู้คนอยู่นอกเมืองโคราช  ตาม พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า มีทหาร ๔ พันเศษ ช้าง ๘๔ เชือก ม้า ๑๐๐ กว่าตัว  ยกพลจากนครราชสีมามาทางบัวชุม ไชยบาดาลถึงลพบุรี ห่างกรุงศรีอยุธยาราว ๖๐ กิโลเมตร กองทัพอยุธยายกพล ๕ พันคนออกไปปราบ จับบุญกว้างกับพวกถูกประหารชีวิต ๒๙ คน เหตุการณ์นี้ถูกนับเป็นกบฏผู้มีบุญครั้งแรกของอีสาน
Image
Image
Image
Image