Image
ที่ใดมีการกดขี่...
กบฏผู้มีบุญ
ภาค 2
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
Image
“ผู้คนพลเมืองในมณฑลนั้นเป็นคนป่าเถื่อน โง่เขลายังไม่ถึงความสามารถจะประพฤติตามขนบธรรมเนียมแบบแผนอย่างหัวเมืองชั้นในได้”

ชาวมณฑลอีสานตามสายตาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ ๒๒ มีนาคม ๒๔๔๔ ในฐานะเสนาบดีมหาดไทย กราบบังคมทูลรายงานต่อรัชกาลที่ ๕

“ขนบธรรมเนียมแบบแผนอย่างหัวเมืองชั้นใน” นั้นคงรวมถึงเรื่องการเรียกเก็บภาษีด้วย ที่คงเป็นภาระอันยากที่ชาวบ้าน “จะประพฤติ” ได้

ด้วยความเป็นอยู่ที่ไม่ได้มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตเนื่องจากผลิตปัจจัย ๔ ได้เองทั้งหมด  ครั้นต้องดิ้นรนหารายได้มาจ่ายภาษีเป็นเงิน ก็กลายเป็นความข้นแค้นขัดสนสำหรับคนชนบทที่เคยพึ่งพาตัวเองอยู่ได้อย่างเรียบง่าย

“ตามความอนุมานแห่งอาตมภาพ เข้าใจว่าเป็นขึ้นเพราะความคับแค้นขัดสนนั่นเอง”

ความเห็นของพระญาณรักขิต (จันทร์ สิริจนฺโท) เจ้าคณะมณฑลอีสานในขณะนั้น (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์) ซึ่งเขียนรายงานต่อกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๔๕ กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการจลาจลครั้งใหญ่ในมณฑล

“จ้างกันทำงานราคาถูกเหลือเกิน เป็นต้นว่า ทำนา ๑ ปี ได้เงินเพียง ๕ บาท หรือ ๒ บาทเท่านั้น” ส่วนคนขายแรงงานแลกเงิน “ค่าจ้างงานก็ถูก เงินหาได้ยาก” ตามรายงานของพระญาณรักขิต

การทำมาหาเงินที่ฝืดเคืองยังถูกซ้ำเติมด้วยกฎระเบียบการซื้อขายสัตว์เลี้ยงที่ไม่สามารถทำกันเองได้อย่างอิสระดังแต่ก่อน ต้องมีการออก “พิมพ์เขียว” โดยเจ้าหน้าที่
Image
Image
Image
Image
Image
Image
“นี่ไม่ใช่การรื้อฟื้น แต่เป็นการพูดถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ถูกปิดไว้”

ถนอม ชาภักดี ผู้ริเริ่มจัดงานบุญแจกข้าวแด่ผู้ล่วงลับในศึกโนนโพธิ์ ที่เขาเปรียบว่านี่คือการ “เปิดหน้าดิน” ครั้งแรกหลังการสังหารหมู่และกลบฝังร่างผู้ถูกตราหน้าว่า “ข้าศึก” ไว้ใต้ผืนดินโนนโพธิ์ หมู่บ้านสะพือ

“เป็นการยืนยันว่าไม่ควรมีใครถูกทำให้เป็นคนอื่นแล้วฆ่าทิ้งได้” ธีระพล อันมัย อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นอีกคนที่ร่วมลงแรงในงานบุญครั้งนี้

“ผมไม่ได้เป็น ‘พวกสามนิ้ว’ ไม่ใช่ ‘คนเสื้อแดง’ แต่เรื่องให้ความรู้ก็อีกเรื่องหนึ่ง  เขามาถามก็ให้ความรู้ไปตามที่เรามี” พินิจ ประชุมรักษ์ เป็นผู้นำชาวบ้านคนหนึ่งในงานบุญแจกข้าวครั้งนี้ 
Image