Image
กบฏผู้มีบุญ ร.ศ. ๑๒๑ เป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ที่สุดในอีสาน มีประชาชนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง แต่ถูกปราบราบคาบในเวลาอันรวดเร็วด้วยการจัดกองกําลังและยุทโธปกรณ์สมัยใหม่แบบตะวันตก 
ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ที่ใดมีการกดขี่...
กบฏผู้มีบุญ
ภาค 1
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
Image
“นี่เป็นการ
เปิดหน้าดินครั้งแรก
ในรอบ ๑๒๐ ปี”

ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการด้านศิลปะ กล่าวไว้ก่อนเขาจะจากไปในอีก ๓ เดือนต่อมา

ตอนนั้นเขายืนอยู่บนเนินท้ายทุ่งนอก หมู่บ้านสะพือ จังหวัดอุบลราชธานี โนนดินตรงนั้นอยู่สูงกว่าแปลงนารายรอบ มีพุ่มโพกับสะเดาต้นใหญ่เป็นจุดหมายตา และรายล้อมด้วยไผ่ปล้องใหญ่หลายกอ

ไม่มีสัญลักษณ์หรือหลักหมายใดบ่งบอกว่าตรงนี้เคยมีเหตุการณ์สำคัญเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน

เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของประชาชนในพื้นที่อีสานที่นับว่าท้าทายและเป็นภัยคุกคามต่อพระราชอาณาจักรราชาธิปไตยมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕  ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารราชการหนังสือมีไปมาระหว่างกระทรวงต่างๆ และกับหัวเมือง ที่เป็นใบบอก สำเนาโทรเลข-ในช่วงแรกสุดที่เริ่มมีใช้ในเมืองไทย ซึ่งทุกวันนี้รวบรวมเก็บอยู่ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติถึงสามปึกใหญ่ ทั้งสิ้นกว่า ๑,๔๐๐ หน้า มีคนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นนับพันนับหมื่นและหลายร้อยคนเสียชีวิตอยู่บนโนนดินนอกหมู่บ้านสะพือ แต่นอกจากหนังสือราชการสามปึกใหญ่ที่ได้รับถ่ายสำเนาเป็นไมโครฟิล์มเก็บรักษาอยู่ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติจนทุกวันนี้ ในพื้นที่ก็ยังแทบไม่มีใครกล่าวถึงเหตุการณ์ทุ่งสังหารแห่งนั้นเลย

นับร้อยปีที่ผ่านมาเรื่องราวของผู้มีบุญหรือกบฏผีบุญ จึงเป็นเพียง “เกร็ดนอกพงศาวดาร” ในมุมมองของบิดาประวัติศาสตร์ไทย ต่อมาแม้จะมีการรื้อฟื้นศึกษาหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ ก็มักเป็นการวิเคราะห์ค้นคว้าจากเอกสาร ซึ่งแทบยังไม่มีการชี้ชัดสัมผัสตรงว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ตรงไหน

การปักหลักหมายที่ชายทุ่งนอกหมู่บ้านสะพือไว้เป็นอนุสรณ์ “ศึกโนนโพธิ์” จึงถือว่าเป็นการเปิดหน้าดินเรื่องผู้มีบุญเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๐๐ ปี ที่คณะผู้ริเริ่มคาดหวังให้เป็นอนุสรณ์สถานที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของชาติและของท้องถิ่น อาจเฉกเช่นอนุสรณ์ทุ่งสัมฤทธิ์ ที่เคยมีเหตุการณ์และอยู่ในฐานะหลักหมายทางประวัติศาสตร์ของชาติ--โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดฝักฝ่ายจากสายตารัฐชาติปัจจุบัน
scrollable-image
Image
คงเป็นบ้านพักและพาหนะทันสมัยที่สุดเท่าที่จะหาได้ในยุคนั้น ที่ชาวเมืองขอนแก่นใช้รับเสด็จสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ คราวตรวจราชการมณฑลในภาคอีสาน หลังเหตุการณ์กบฏผู้มีบุญ ๔ ปี กล่าวกันว่าพระองค์เป็นชนชั้นสูงพระองค์แรกที่เสด็จไปทั่วอีสาน ซึ่งใช้เวลาร่วม ๓ เดือน ด้วยเกวียนและม้า
Image
เสียงกลองกึกก้องท้องทุ่งลั่นระรัวเข้ามาถึงในหมู่บ้านเร่งเร้าคนบ้านสะพือให้ออกไปยังโนนโพธิ์ ซึ่งปรกติจะออกไปก็ต่อเมื่อมีงานในไร่นา

“ผมถามว่าดีไหม เขาบอกดีมาก ๆ อยากให้ทำแบบนี้มานานแล้ว” ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มาร่วมลงแรงจัดงานบุญแจกข้าวแด่ผู้ล่วงลับในศึกโนนโพธิ์ ถ่ายทอดเสียงของชาวบ้านสะพือที่มาร่วมชมศิลปะการแสดงสดของกลุ่มราษฎรัมส์ “เขาปรบมือและบอกว่าถ้าได้รู้ล่วงหน้าชาวบ้านจะชวนกันมาดูมากกว่านี้”

ตอนนั้นเป็นยามบ่ายวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๕ ย้อนกลับไปในวันเดียวกันนี้เมื่อ ๑๒๐ ปีก่อน กองทัพที่ทันสมัยที่สุดของสยามในเวลานั้นกำลังเคลื่อนพลมาพร้อมอาวุธปืนสมัยใหม่และปืนใหญ่แบบบรรจุลูกกระสุนจากท้ายกระบอก มาถึงท้ายทุ่งแถวโนนสวนหม่อนอีกฟากของห้วยแฮ่ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับโนนโพธิ์

เตรียมการปราบกบฏผีบุญ ซึ่งตามรายงานของสายข่าวทางการว่ามีกำลังราว ๒,๕๐๐ คน

แล้วตอนสายวันรุ่งขึ้นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในแผ่นดินอีสานก็เกิดขึ้นที่โนนโพธิ์ ข้างหมู่บ้านสะพือนั่นเอง

“ยายเล่าเหมือนนิทานว่า คราวศึกโนนโพธิ์มีกลุ่มผีบุญมาพักอยู่ที่นี่ เพราะมีหนองผือเป็นแหล่งน้ำ แกกลัวมากเลยหลบไปอยู่วัดบูรพา ไม่กล้ามาแถวนี้เลย”

พินิจ ประชุมรักษ์ เป็นข้าราชการเกษียณ วัย ๗๒ ปี คนรุ่นเขาได้ฟังเรื่อง “ศึกโนนโพธิ์” จากยายซึ่งตอนนั้นเพิ่งเริ่มเป็นสาวรุ่น ช่วงเกิดศึกมีเพียงกระโจมอกผืนเดียววิ่งไปพึ่งวัดบูรพาซึ่งเป็นวัดเก่าแก่หนึ่งในสี่แห่งของหมู่บ้านสะพือ ชุมชนขนาดใหญ่เกินครึ่งค่อนตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล

“พวกผู้ชายเอาเสื่อพันตัวนอนซุกอยู่บนขื่อยุ้งข้าว หรือบางคนก็ขุดหลุมหลบอยู่ใต้บ้าน กลัวข้าศึกเห็นจะถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ ส่วนผู้หญิงเขาจะเกณฑ์ให้เป็นผู้ทำเสบียงมาส่ง ซึ่งต้องมีดอกไม้สีเหลืองทัดหูเป็นสัญลักษณ์”

“ขันโบราณนี้คงเป็นอุปกรณ์ที่เขาใส่ของมาถวาย” ประดับโชค บัวขาว พูดถึงขันทองเหลืองที่บรรพบุรุษข้างภรรยาขุดเจอจากในนาแถวโนนโพธิ์ “พวกนั้นเป็นผู้วิเศษ เป็นเจ้านายเอาถ้วยกระเบื้องมาบ่ได้ เลยเอาใส่ขันแบบนี้มา”

“เมื่อมาตั้งอยู่ตรงนี้ เวลาองค์มั่นจะพูดอะไรจะออกไปใต้โคนสะเดาต้นนี้ อันนี้คนยุคนั้นเขาเล่าต่อกันมา” พินิจชี้ไปที่ต้นสะเดาโบราณที่อยู่ถัดจากแนวกอไผ่ ในที่โล่งบนลาดเนินมองเห็นได้จากรายรอบทิศ และย่อมไม่พ้นสายตาคนของทางการด้วย

“คนที่นี่อยู่ใต้ปกครองของทางการ มีคนแปลกหน้าเข้ามากำนันก็ต้องออกไปแจ้งต่อกันเป็นทอด ๆ เหมือนวิ่งผลัด ทางเมืองอุบลก็เข็นปืนใหญ่มายิง”
Image