Image
ทีวียุค 90s
90s is back!
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
รายการทีวีในยุค 90s (ปี ๒๕๓๓-๒๕๔๒) ในช่วงต้นไม่ได้ออกอากาศตลอด ๒๔ ชั่วโมง ส่วนมากเริ่มเวลา ๑๖.๐๐ น. และปิดสถานี ๒๔.๐๐ น. บางสถานีก็แพร่ภาพแค่ช่วงเย็นไปจนถึง ๒๑.๐๐ น. เท่านั้น โดยในวันหยุดสุดสัปดาห์ตารางการออกอากาศจะยาวนานกว่า
วัยรุ่นต้นยุค 90s จะจำได้ว่า หากตื่นมาต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลางดึกจะไม่มีรายการทีวีให้ดู เพราะถ้ากดเปิดทีวีที่เป็น “ตู้สี่เหลี่ยมหนา จอโค้งมน” จะพบหน้าจอเป็นภาพกราฟิกที่เต็มไปด้วยการไล่สีหลากสี ตรงกลางเป็นรูปวงกลม รอบ ๆ เป็นตารางสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ พร้อมกับเสียง “ต๊อดดดดด” ยาว เปลี่ยนไปช่องอื่นก็จะพบว่ากลายเป็นภาพเม็ดทรายดำขาวละเอียดยิบพร้อมกับเสียง “ซ่า”  กราฟิกที่ว่าคือ “ภาพทดสอบ PM5544” ในระบบ PAL (ระบบสีในโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก) พัฒนาโดยบริษัท Philips Electronics โดยบนจอทีวีจะมีเส้นแนวนอน ๖๒๕ เส้น แนวตั้ง ๕๗๖ เส้น (เทียบเท่า ๐.๔๔ เมกะพิกเซล) ฉายภาพ ๒๕ ภาพต่อวินาที ซึ่งไทยเริ่มใช้ระบบนี้มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๘๐  ส่วนสถานีในระบบอื่นที่ปิดช่องแล้ว จอก็จะกลายเป็นเม็ดทรายพร้อมเสียงซ่าไป

ต้นยุค 90s (ปี ๒๕๓๓-๒๕๓๘) ฟรีทีวีในประเทศไทยประกอบด้วย ไทยทีวีสีช่อง ๓, สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ (ททบ. ๕), สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗, สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๙ อสมท สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ (สทท. ๑๑) โดยคนทั่วไปเรียกติดปากว่า “๓ ๕ ๗ ๙ และ ๑๑” เป็น “ทีวีกระแสหลัก”

เมื่อเข้าสู่กลางยุค 90s หลายสถานีก็เริ่มออกอากาศ ๒๔ ชั่วโมง
Image
Image
Image
หากเปิดทีวีช่วงเช้าตรู่ ถ้าเป็นวันหยุด หมุน (ทีวีสมัยก่อนเปลี่ยนช่องด้วยการหมุนปุ่ม) ไปที่ช่อง ๓ จะเจอรายการ “ทุ่งแสงตะวัน” นำเสนอเด็กเล่าเรื่องของตนเองกับสิ่งแวดล้อม มีพิธีกรหลักคือนก-นิรมล เมธีสุวกุล  เปลี่ยนไปช่อง ๙ จะพบ “ข่าวรับอรุณ” ผู้ประกาศข่าวหลักคือดอกเตอร์สมเกียรติ อ่อนวิมล จากนั้นต่อด้วยรายการ “ช่อง ๙ การ์ตูน” มี “น้าต๋อย เซมเบ้” (นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์) แนะนำการ์ตูนส่งตรงจากญี่ปุ่น ที่ช่อง ๙ นำเข้ามาฉายให้น้อง ๆ หนู ๆ ดูในช่วงเช้า
Image